คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) เผยผลตรวจสอบ 8 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 558,281,000 บาท โดยเป็นโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้ จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงปี 2562 เพื่อให้ จ.กาฬสินธุ์ เจริญก้าวหน้าตามศักยภาพ โดยผู้รับจ้างนี้เป็นเจ้าเดียวกัน ที่รับงานจากกรมโยธาฯ แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โดยทำงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และมีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนไปแล้ว ขณะที่ชาวบ้านพ้อ ผู้รับเหมาไม่ทำงาน สร้างปัญหาแล้วหนีไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทางจังหวัดก็ไม่ขยับ แล้วอย่างนี้ชาวบ้านจะหันไปพึ่งใคร
วันที่ 23 เม.ย.67 นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต ปปท.เขต 4. ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมาธิการ จ.กาฬสินธุ์ (กธจ.) กล่าวว่า จากกรณีการก่อสร้างโครงการระบบท่อประปาป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ที่ล่าช้ามานานกว่า 5 ปี ทำชาวบ้านเดือดร้อน เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังเสียหาย ซึ่ง กธจ.กาฬสินธุ์ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านให้ทำการตรวจสอบ ล่าสุดได้ร่วมกับ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 ที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- รวบสาวใหญ่ซิ่งมอไซค์ขนยาบ้า 516,000 เม็ด
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
นายชาญยุทธกล่าวอีกว่า ผลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบ กธจ.-ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และ ปปช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ยังพบว่ามีอีก 7 โครงการที่กรมโยธาฯ จัดมาลงที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมาในลักษณะเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมเป็น 8 โครงการ ซึ่งมีปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้าเหมือนกัน และหมดสัญญาไปแล้ว 6 โครงการ โดยผู้รับจ้างคือ หจก.เฮงนำกิจ 6 โครงการ และหจก.ประชาพัฒน์ 2 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ งบ 148,200,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เริ่มงานวันที่ 19 เม.ย.62 กำหนดแล้วเสร็จ 26 มิ.ย.64 ขยายสัญญาครั้งที่ 1 กำหนดแล้วเสร็จ 21 พ.ย. 64 ขยายสัญญาครั้งที่ 2 กำหนดแล้วเสร็จ 25 ก.พ. 68 จากการรายงานเมื่อวันที่ 19 มี.ค.67 ที่ผ่านมา คืบหน้า 63.21% ทั้งนี้ มีทั้งหมด 79 งวดงาน เบิกจ่าย 31 งวด ประมาณ 80,000,000 บาท (2 ) โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง ความยาว 583 เมตร งบ 39,540,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 28 ก.ย.65 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.ค.67 โดยเบิกจ่าย 10 งวด จำนวน 11,000,000 บาท” นายชาญยุทธกล่าว
นายชาญยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมี (3) โครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร งบประมาณ 108,800,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.ประชาพัฒน์ เริ่มต้นสัญญา 12 ก.ย.62 สิ้นสุดสัญญา 30 ก.ย. 64 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 67 ผลงาน 79% ช้ากว่าแผน -21% เบิกจ่าย 50,377,600 บาท, (4) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 63 สิ้นสุดสัญญา 9 พ.ย.65 ขยายเวลาจาก 10 ส.ค. 65 จำนวน 91 วัน แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาทถึงวันที่ 10 ส.ค.67 ผลงาน 26.22% ช้ากว่าแผน -73.78% เบิกจ่าย 14,978,900 บาท, (5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะ 2) วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 385 เมตร งบประมาณ 59,270,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 10 ต.ค. 65 ขยายระยะเวลา 73 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 แก้ไขสัญญา ค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 10 ส.ค. 67 ผลงาน 45.77% ช้ากว่าแผน -54.23% เบิกจ่าย 21,930,500 บาท
(6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 937 เมตร งบประมาณ 59,350,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 64 สิ้นสุดสัญญา 10 ส.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 14 มิ.ย.67 ผลงาน 1.65% ช้ากว่าแผน -64.37 % เบิกจ่าย 8,902,500 บาท , (7) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ.หนองหวาย-บ.หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 300 เมตร งบประมาณ 39,525,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.65 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.ค.67 ผลงาน 0% ช้ากว่าแผน 0% เบิกจ่าย 5,928,750 บาท และ (8) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 526 เมตร งบประมาณ 44,490,000 บาท ผู้รับจ้าง หจก.เฮงนำกิจ เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.64 สิ้นสุดสัญญา 4 ก.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 10 เม.ย.67 ผลงาน 15% ช้ากว่าแผน -59% เบิกจ่าย 11,753,000 บาท
ทั้งนี้ 8 โครงการที่ทราบข้อมูลตามประกาศของกรมโยธาฯ จะพบว่ามีมูลค่าการก่อสร้างถึง 558,481,000 บาท มีการเบิกจ่ายเงินงวดงานไปแล้วประมาณ 204,871,250 บาท โดยผู้รับจ้าง 2 รายที่คู่สัญญากับกรมโยธานั้นเป็นเครือข่ายเดียวกัน และทุกโครงการ ยกเว้น “โครงการสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแก่งดอนกลาง” และ “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ.หนองหวาย-บ.หนองคล้าฯ” ที่ยังไม่หมดสัญญานั้น ได้รับการขยายระยะเวลาออกไปอีกและไม่ต้องเสียค่าปรับหรือมีค่าปรับเป็น 0 บาท โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 และผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ขณะที่พี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการชาวกาฬสินธุ์ ผู้เสียภาษี ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ต่างรอคอยด้วยความหดหู่อดสูใจ เหมือนไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาครัฐเท่าที่ควร ส่วนผู้รับเหมาก็ไม่ออกมาแสดงตัวรับผิดชอบ ต่อความล่าช้ารวมทั้งปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีที่เกิดขึ้นจึงสร้างความสงสัยให้กับทุกคนที่ทราบเรื่อง และคงฟังไม่ขึ้น เพราะทุกโครงการเป็นเงินภาษีของประชาชน และผู้รับจ้างทั้ง 2 รายจะอ้างขาดสภาพคล่องไม่ได้ เพราะทราบว่าเป็นผู้รับเหมาขาใหญ่ ไปได้งานในหลายจังหวัด
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า ส่วนที่ กธจ.กาฬสินธุ์ดำเนินการในช่วงนี้คือสรุปปัญหา ข้อมูล ข้อร้องเรียน ให้ ปปท.-ปปง.-ปปช.-สตง.และดีเอสไอทราบเรื่องแล้ว ยืนยันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และชาวบ้าน ผู้ประกอบการ ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจริง อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งทางจังหวัด ได้ออกมาสร้างความชัดเจน เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้สังคมกาฬสินธุ์ เพราะหากยังปล่อยให้ผู้รับจ้างกระทำแบบนี้ โดยยังไม่มีการแก้ไขปัญหา แล้วชาวกาฬสินธุ์จะหันไปพึ่งใคร
ขณะที่นายประหยัด เรเชียงแสน ข้าราชการบำนาญ ตัวแทนชาวบ้านและผู้ประกอบการ บริเวณถนนพร้อมพรรณอุทิศและชุมชนหัวโนนโกเกษตร ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน กล่าวว่า ตอนแรกที่มีโครงการท่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์มาลงพื้นที่ ตนและชาวบ้านทุกคนก็ดีใจ เข้าใจว่าเป็นโครงการที่ดีและเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ไปๆมาๆกลับไม่ใช่ เพราะผู้รับเหมาทำงานไม่ต่อเนื่องและหนีไปในที่สุด ทิ้งปัญหาให้ชาวบ้านเผชิญและรับกรรมอย่างที่เห็น เช่น การค้าขายสะดุด หลายรายย้ายบ้านย้ายร้านค้าหนี และแทนที่จะมาแก้ปัญหาน้ำท่วมก็กลับมาสร้างปัญหาน้ำท่วมขังและสิ่งกลิ่นเหม็น
นายประหยัดกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนและชาวบ้านร้องเรียนไปที่โยธาฯกาฬสินธุ์หลายครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ผู้รับเหมาก็ไม่ใส่ใจจะดูแล ชาวบ้าน ผู้ประกอบการจึงอยู่กันอย่างสิ้นหวังซังกะตาย สุดท้ายหันพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จุดธูปบอกกล่าวเทวดาฟ้าดิน ตะโกนใส่หม้อนึ่งข้าวเหนียว และกอดเสาเข็ม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ยังเงียบเฉย ไม่แก้ไขปัญหา จึงอยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ดำเนินการแก้ปัญหาให้กับชาวกาฬสินธุ์ เหมือนสโลแกน “พูดแล้วทำ” เพราะชาวบ้านรอความหวังอยู่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: