X

พบทุจริตโครงการ 9101 บัวบานซื้อปัจจัยการผลิตแพง ผิดระเบียบ ส่งพันธุ์กบผลิตสเปค

กาฬสินธุ์ – คณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุพบการซื้อปัจจัยการผลิต พันธุ์ข้าว สารปรับปรุงดินแพงมีส่วนต่าง 1 ล้าน กรรมการทำสัญญาซื้อขายเองผิดระเบียบ และจัดส่งพันธุ์กบให้กับเกษตรกรผิดสเปค เตรียมสรุปผลสอบชงผู้ว่าราชการจังหวัดฟันข้าราชการและผู้นำชุมชนร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ซึ่งมีการตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินแพงกว่าท้องตลาด และในพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาแพงกว่าท้องตลาด

จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ นายอำเภอยางตลาด นายอภิรัตน์ ภูตีกา เกษตรอำเภอยางตลาด นายสนุน แจะหอม นิติกรศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบปัญหาการแจกจ่ายพันธุ์กบให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ตามโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนชนว่า มีการแจกจ่ายพันธุ์กบผิดสเปก หัวอาหารผิดประเภท และราคาแพง จนทำให้กบตายจำนวนมาก

โดยการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มเลี้ยงกบ บ้านโคกก่องหลายราย และส่วนใหญ่ได้รับการแจกจ่ายกบในรอบแรกอายุประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งคณะกรรมการและผู้รับเหมาอ้างว่าเป็นพันธุ์พ่อกบ แม่กบ คนละ 15 ตัว แยกเป็นกบตัวเมีย 13 ตัว และตัวผู้ 2 ตัว ซึ่งไม่ตรงกับอัตราส่วนของกบตัวผู้และตัวเมีย และเกิดปัญหากบทยอยล้มตายทุกวัน และบางรายกบตายทั้งหมด เนื่องจากกบมีแผลตามตัว และยังมีอายุน้อย

จากนั้นคณะกรรมการและผู้รับเหมาจึงได้นำกบมาซ่อมทดแทนให้กับเกษตรกรตามจำนวนกบที่ตาย แต่ก็ยังประสบปัญหากบทยอยล้มตายเช่นเดิม เนื่องจากกบที่นำมาส่งในรอบใหม่ก็ยังเป็นกบที่มีอายุน้อยและไม่เหมาะสมเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อีกทั้งหัวอาหารที่นำมาแจกจ่ายก็เป็นหัวอาหารปลาดุกผิดประเภท และราคากระสอบละ 600 บาท ซึ่งสูงกว่าท้องตลาด

พ.อ.มานพ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบปัญหาการแจกจ่ายพันธุ์กบให้กับประชาชนที่บ้านโคกก่อง ม.7 นั้น พบว่า เป็นการส่งปัจจัยการผลิตผิดสเปก ไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านต้องการพันธุ์กบเล็กมาเลี้ยง ซึ่งจะได้คนละประมาณ 2,000 ตัว แต่กลับมีการนำกบอายุประมาณ 4-5 เดือน และอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบมาแจกจ่าย และกบไม่สมบูรณ์ จึงเกิดปัญหากบตาย อีกทั้งยังมีการนำหัวอาหารปลาดุกมาให้ ซึ่งผิดประเภทและราคาแพง

พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการตรวจสอบในพื้นที่ ต.บัวบานยังพบการจัดซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเปลือก และสารปรับปรุงดินราคาสูงกว่าท้องตลาด ซึ่งรวมทั้งสองอย่างมีส่วนต่างของราคาอยู่ที่ชุดละ 500 บาท และหากเทียบกับยอดการจัดซื้อพันธุ์ข้าวอย่างน้อยประมาณ 2,000 กระสอบ และสารปรับปรุงดินอีก 2,000 กระสอบ จะมีส่วนต่างอย่างต่ำอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท โดยส่วนต่างเหล่านี้จะเป็นกำไรของผู้รับเหมาและส่วนหนึ่งจะอยู่ที่ข้าราชการและกลุ่มผู้นำชุมชนที่ร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์

อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาการซื้อปัจจัยการผลิตแพงและส่งของผิดสเปกแล้ว ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ยังตรวจพบการทำสัญญาซื้อขายของประธานและคณะกรรมการที่มีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตเองทั้งหมด ซึ่งเป็นเป็นการทำผิดระเบียบ และเจตนาดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริตตั้งแต่ต้น โดยเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการตรวจสอบจะสรุปผลส่งให้กับผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อพิจารณาลงโทษตามขั้นตอนต่อไปภายในสัปดาห์นี้

ด้านนายจำลอง พลโคกก่อง อายุ 63 ปี ชาวบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด  กล่าวว่า โครงการ 9101 ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโครงการที่ดี หากเจ้าหน้าที่มองผลประโยชน์และดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง เช่น การแจกจ่ายพันธุ์กบให้กับชาวบ้านหากนำกบที่มีคุณภาพมาให้ก็จะเป็นประโยชน์ แต่กลับเป็นการนำกบอายุไม่น่าเกิน 6 เดือนมาให้ และบอกว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปกติก็เพาะพันธุ์ลูกกบ เลี้ยงกุ้ง และเลี้ยงปลาขายอยู่แล้ว จึงรู้ดีว่าไม่ใช่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อีกทั้งยังนำกบที่ไม่สมบูรณ์มาให้จนมีแผลและตายไปแล้วจำนวนมาก เท่ากับเป็นการนำภาระมาให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เป็นโครงการเปล่าประโยชน์และไม่คุ้มกับเงิน 5,000 บาท จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน