กาฬสินธุ์ – สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ น้อมนำศาสตร์พระราชาเข้ากระบวนการแก้จนสนองนโยบาย กาฬสินธุ์ แฮบปี้เนส โมเดล เปิดป่าครอบครัวแก้จนแห่งแรกของประเทศไทย เชื่อมั่น 1 ครอบครัว 1 ป่า ช่วยรักษาสมดุลลดโลกร้อนและสร้างมูลค่ารายได้อย่างยั่งยืน เผยปลูกป่ามากว่า 8 ปี คุ้มค่ามากที่สุดคือคุณค่าทางจิตใจ
ที่สวนนาป่าเห็ด เฮินโฮม นายเธียรชัย อัจฉริยะพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการการจัดการป่าครอบครัว โดยเปิดรับอาสาสมัครเข้ารับการอบรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการการสำรวจและการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าครอบครัว เพื่อลดโลกร้อน ที่มีเครือข่ายอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดกาฬสินธุ์ ใน 18 อำเภอ เข้าร่วม ทั้งนี้นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้เปิดตัวโครงการแก้จนสนองนโยบายรัฐบาล กาฬสินธุ์ แฮบปี้เนส โมเดล หรือแผนแก้จนที่กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดนำร่อง โดยชูโครงการป่าครอบครัวแก้จนด้วยศาสตร์พระราชาแห่งแรกของประเทศไทย ทั้งนี้นายเธียรชัย ยังได้บรรยายพิเศษประโยชน์ของการปลูกป่าจากนั้นได้ร่วมกับเครือข่ายแกนนำปลูกป่า ปลูกต้นฝ้าย และหว่านปอเทืองในนาข้าวภายในสวน จากนั้นวิทยากรทั้งจากภาครัฐและภาคีเครือข่ายเริ่มกระบวนถอดบทเรียนและถ่ายทอดความรู้ในสถานที่จริง
ด้านนายพิชิตก็กล่าวว่า ได้น้อมนำปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นกลไกและเครื่องมือในการเข้าส่งเสริมชาวบ้าน รวมถึงหลุมพอเพียง ของพระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ โดยมีแกนนำและตัวแทนจากพื้นที่นอกเขตชลประทานเข้าร่วมเรียนรู้และถอดบทเรียนปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร โดยโครงการนี้ได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร ภาครัฐส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักและให้ความสำคัญของการปลูกป่า แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ แต่เกิดความคุ้มค่า มีประโยชน์และเกิดความสุขอย่างยั่งยืน
สำหรับการดำเนินการ ได้มีการคัดเลือกต้นแบบป่าครอบครัวจากกลุ่มเครือข่ายสมาชิกที่ร่วมปลูกป่ากับทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ สวนนาป่าเห็ดเฮินโฮม ถือเป็นป่าครอบครัวแห่งแรกนอกเหนือจากการเป็นต้นแบบ แต่ยังยกระดับเพื่อเข้าสู่กาฬสินธุ์แฮบปี้เนสโมเดล หรือแผนแก้จนของรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับประโยชน์จากการปลูกป่า แต่ตลอดระยะเวลา 8 ปี ของป่าครอบครัว สวนนาป่าเห็ดเฮินโฮม โดยเฉพาะซูปเปอร์มาเก็ตอาหารป่าทั้งเห็ดป่า และพืชสมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถเก็บรับประทานในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังสามรถนำเอาเปลือกไม้ ใบไม้และกิ่งก้าน มาต่อยอดในด้านธุรกิจครอบครัว จากการย้อมผ้าฝ้ายเข็น – ผ้าทอมือด้วยสีธรรมชาติ ทำให้รูปแบบสินค้าของธุรกิจผ้าฝ้าย ผ้าฝ้ายเข็น และผ้าทอมือของครอบครัวเฮินโฮมมีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นายประพันธ์ เวียงสมุทร กล่าวว่า เริ่มจากการปลูกหลุมพอเพียง ที่พระมหาสุภาพ พุทธวิริโย ได้น้อมนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวงมาประยุกต์ การสนับสนุนพันธุ์ไม้จากส่วนราชการในครั้งแรกมองว่าการปลูกป่าก็เพื่อให้เกิดความร่มรื่น มีความสงบในธรรมชาติพื้นที่ 4 ไร่ ได้แบ่งเป็นปลูกสิ่งก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติ แบ่งพื้นที่ปลูกพืชต้นฝ้ายสายพันธุ์ต่าง ๆ สมุนไพร ป่าคราม นาข้าว และมีไม้ใหญ่เป็นป่ารายล้อมให้ความร่มรื่นตลอดทั้งวัน
จากการทำธุรกิจค้าขายผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าฝ้ายเข็นและผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ การปลูกป่าในจุดแรกไม่คิดว่าจะทำเกิดประโยชน์และสร้างรายได้กับครอบครัวมากนัก กระทั่งเกิดการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ทำให้ได้ใช้ประโยชน์จากการปลูกป่าแทบทุกอณูของป่าต้นไม้ที่ปลูกไว้ และเห็นผลที่สุดน่าจะเป็นช่วง 3 ปีย้อนหลังไปเห็ดธรรมชาติอย่างเห็ดระโงก เริ่มเกิดขึ้นเองแบบธรรมชาติและมีจำนวนมากตลอดทั้งปี เฉพะมูลค่าราคากิโลกรัม 500-800 บาท หากขายตามท้องตลาด แต่แจกจ่ายให้เพื่อนบ้านในชุมชนได้รับประทานแทน รวมถึงภาพที่แพร่ออกไปทางโซเชียล จนทำให้เกิดโฮมสเตย์เก็บเห็ดที่เปิดรับผู้ชื่นชอบธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้นำเอาเปลือกไม้ต่าง ๆ มาย้อมสีผ้าฝ้ายให้เกิดความแตกต่าง ๆ จากการลองผิดลองถูกจนทำให้ผลิตภัณฑ์ของร้านมีความแปลกและเป็นความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพราะทุกอย่างเกิดจากธรรมชาติทุกกระบวนการ ในวันนี้ทำให้รู้ถึงประโยชน์ของป่าที่ให้คืนผู้ปลูกมากมาย
โดยสวนนาป่าเห็ดเฮินโฮม ได้รับการเลือกให้เป็นป่าครอบครัวต้นแบบแห่งแรก มีนายประพันธ์ เวียงสมุทร และนางอัมพร วารีกุฎิ เป็นเจ้าของ บนเนื้อที่ 4 ไร่ ได้แบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่โฮมเสตย์ นาข้าว และผืนป่า ที่ได้ลงมือปลูกป่าจากการสนับสนุนของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำพันธุ์ไม้ทั้งยางนา ชาด เต็งรัง พะยูง ประดู่ สักและไม้ป่าอื่น ๆ มาปลูกในพื้นที่ตลอดระยะเวลา 8 ปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: