คณะกรรมการตรวจสอบทุจริตโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์เช็คเส้นทางการโอนเงินของกลุ่มชุมชนบัวบาน พบโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเอกชนรายเดียว แต่บิลใบเสร็จรับเงินกลับเป็นคนละร้าน เตรียมประสานพรรพากรและพาณิชย์เข้าตรวจสอบ
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด และ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ
ล่าสุด พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า คณะกรรมการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินโครงการ 9101 ของ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 และชุมชนบัวบาน 2 กับธนาคาร ธ.ก.ส.สาขาโคกศรี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ โดยจากการตรวจสอบพบว่าเงินที่ถูกโอนมาจากสำนักงานเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ เพื่อเข้ามายังบัญชีของคณะกรรมการระดับชุมชนทั้ง 2 กลุ่ม รวม 11 โครงการ เป็นเงินกว่า 6,400,000 บาทนั้น ทางคณะกรรมการของชุมชนได้โอนไปยังบัญชีของกลุ่มเกษตรกรแต่ละกลุ่มทั้ง 11 กลุ่มตามขั้นตอน ก่อนที่กลุ่มต่างๆจะโอนต่อไปยังบัญชีร้านค้า (ร้านด็อกเตอร์เกษตร) ซึ่งเป็นร้านคู่สัญญาที่จัดส่งปัจจัยการผลิตทั้งหมด และบางส่วนเบิกเงินสดแล้วนำไปจ่าย
โดยขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเป็นการทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่ผิดระเบียบคือการที่คณะกรรมการชุมชนทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งที่เรียกว่ากลุ่มใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชนกลับไปทำสัญญาจัดซื้อปัจจัยการผลิตเองกับร้านด็อกเตอร์เกษตร ซึ่งเป็นการทำผิดระเบียบ เพราะตามระเบียบของกระทรวงเกษตรฯจะต้องให้กลุ่มเกษตรกร หรือที่เรียกว่ากลุ่มเล็ก ที่เป็นผู้เดือดร้อนเป็นคนทำสัญญาหรือจัดซื้อปัจจัยการผลิตเอง และจากการตรวจสอบเอกสารบิลใบเสร็จรับเงินการจัดซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวเลือกทั้งหมดพบว่า เป็นใบเสร็จของร้านบุญมาพาณิชย์ ไม่ใช่บิลใบเสร็จจากร้านด็อกเตอร์เกษตร ซึ่งบิลใบเสร็จจากร้านด็อกเตอร์เกษตรมีเพียงการจัดซื้อพันธุ์กบและพันธุ์ปลาดุกเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะคู่สัญญา และการโอนเงินทั้ง 11 โครงการเป็นร้านด็อกเตอร์เกษตร แต่ใบเสร็จกลับเป็นร้านบุญมาพาณิชย์ ดังนั้นทางคณะกรรมการจะประสานไปยังสรรพากรและพาณิชย์จังหวัด เพื่อเข้าตรวจสอบร้านทั้ง 2 แห่ง
อย่างไรก็ตามที่สำคัญสาเหตุใดทางคณะกรรมการชุมชนจึงต้องทำสัญญาจัดซื้อเอง ทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่จัดซื้อ ซึ่งเป็นการจงใจ เจตนาเข้าไปครอบงำการจัดส่งของหรือไม่ อีกทั้งที่ผ่านมามีการประชุมกลุ่มเกษตรกร เพื่อทำความเข้าใจ และมีการตั้งประธานกลุ่ม คณะกรรมการ เหรัญญิก และเลขาในระดับกลุ่มเล็กตามระเบียบหรือไม่ เพราะเท่าที่ขอตรวจสอบเอกสารรายชื่อกลุ่มสมาชิกเกษตรกร และบันทึกการประชุมเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการกลับไม่สามารถนำมาให้ตรวจสอบได้
พ.อ.มานพ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบนอกจากจะพบการซื้อพันธุ์ข้าว สารปรับปรุงดินแพง และการจัดส่งพันธุ์กบให้กับเกษตรกรที่ผิดสเปก จากพันธุ์กบเล็ก เป็นการแจกจ่ายกบใหญ่ ซึ่งอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์แล้วนั้น ยังพบการแจกจ่ายหัวอาหาร ซึ่งเป็นหัวอาหารปลาดุกที่ผิดประเภท ทั้งนี้แม้หัวอาหารปลาดุกจะใช้แทนหัวอาหารกบได้ก็ตาม แต่เท่าที่ตรวจสอบราคาหัวอาหารปลาดุกที่นำมาแจกให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงกบนั้นเป็นหัวอาหารปลาดุกขนาดใหญ่ โปรตีนไม่ต่ำกว่า 25 % มีการจัดส่งในราคากระสอบละประมาณ 600 บาท และตามท้องตลาดจะจำหน่ายในราคากระสอบละไม่เกิน 450 บาท แต่ถ้าเป็นหัวอาหารของกบโดยเฉพาะราคาจะอยู่ที่ 600-620 บาท ซึ่งราคาหัวอาหารปลาดุกและหัวอาหารกบจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงถือเป็นการเลี่ยงนำหัวอาหารปลาดุกมาแทนเพื่อที่จะได้กำไรมากที่สุด
ในส่วนของพื้นที่ อ.กุฉินารายณ์ที่คณะกรรมการตรวจพบบริษัทเอกชนจัดส่งปัจจัยการผลิตรายเดียวทั้ง 39 โครงการ งบประมาณกว่า 23 ล้านบาท และมีบริษัทเอกชนส่งราคาเข้ามาแข่งขันหรือประกบราคารายเดียวเช่นกันและแพ้ทั้ง 39 โครงการนั้น ทางคณะกรรมการจะลงพื้นที่ตรวจสอบร้านทั้งสองแห่ง และจะลงสุ่มตรวจสอบการจัดส่งปัจจัยการผลิตกับเกษตรกรในพื้นที่ว่าปัจจัยการผลิตที่ได้รับมีราคาแพงและเหมาะสมกับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทหรือไม่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: