ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์ประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 เดินสำรวจโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน เพื่อจัดทำแผนเสนอรัฐบาลในการพัฒนาทั้งระบบ แก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจนอย่างยั่งยืน
วันที่ 19 ม.ค.61 ที่อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.อ.จิรศักดิ์ ขำประถม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเรื่องมาจากพระราชดำริ และความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 พร้อมคณะ เข้าสำรวจพื้นที่ตอนบนอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ โดยเดินลอดอุโมงค์ผันน้ำฯ รวมระยะทางไปกลับ 1.52 กิโลเมตร และอ่างวังคำหรืออ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน โดยมีนายบำรุง คะโยธา อนุคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ท.กฤติพงศ์ สมุทรสาคร หัวหน้าฝ่ายข่าว กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ นายอนันตศักดิ์ แย้มชื่น ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาฬสินธุ์ และนายวิเศษ คำไชโย ตัวแทนสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมผู้นำชุมชน ตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ร่วมเดินสำรวจและให้ข้อมูล
ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่เคยร่วมคณะ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาสำรวจอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน กระทั่งเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริ ให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ลอดใต้เขาภูเขาบักดี เพื่อชักน้ำจากลำห้วยไผ่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ลงมาแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเคยประสบปัญหาภัยแล้ง ให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างทั่วถึง ประมาณ 2,500 ไร่ กระทั่งเกิดโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นดำริของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ที่อยากทราบความก้าวหน้าการพัฒนาอ่างเก็บน้ำลำพะยัง ประสิทธิภาพการใช้น้ำของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาต้นน้ำ เพื่อชักน้ำจากลำห้วยไผ่เข้ามายังอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะปรับปรุงบริเวณด้านหน้าอุโมงค์ผันน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคตอีกด้วย
ด้านนายบำรุง คะโยธา อนุคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการสำรวจสภาพอ่างเก็บน้ำและระบบการลำเลียงน้ำ รวมทั้งพื้นที่ใช้น้ำ พื้นที่โดยรอบบริเวณอุโมงค์ผันน้ำลำพะยัง และอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนา เนื่องจากเว้นช่วงการพัฒนามานานกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าท่อส่งน้ำบางจุด ขาดการดูแลรักษา ทำให้มีสภาพเสื่อมโทรม ส่งผลให้เกษตรกรบางหมู่บ้านไม่ได้รับน้ำอย่างเต็มที่ เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ
ทั้งนี้ สิ่งที่เกษตรกร ผู้ใช้น้ำต้องการ และเป็นไปตามพระราชปณิธาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ โดยนำน้ำจากด้านเหนือคือลำห้วยไผ่ ในเขต อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ที่มีปริมาณมาก ลงมาเติมเต็มพื้นที่ด้านล่างที่ขาดแคลนและประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ในเขต อ.เขาวง โดยลอดใต้ภูเขาผ่านอุโมงค์ผันน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเดินสำรวจ เพื่อจัดทำแผนเสนอรับบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาพัฒนาต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: