ด่วน!! อัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งฟ้องนายไกรสวัสดิ์ แก้วคำหาญ ประธานสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 จำเลยคนที่ 1 กับนายบุญมา แก้วคำหาญ กรรมการสถาบันการเงินฯ จำเลยคนที่ 2 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน กู้เงินกับธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท วงเงิน 65 ล้านบาท ขาดหลักทรัพย์ประกันตัว ถูกจับเข้าเรือนจำกาฬสินธุ์
จากกรณีชาวบ้าน 4 ตำบล ใน อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ อ้างว่าถูกสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ที่ 9 ต.ท่าคันโท หลอกให้เซ็นสัญญากู้เงินจากธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท คนละ 50,000 – 200,000 บาท ในช่วงปี 2557-2559 มีผู้เสียหายกว่า 300 คน ในวงเงินประมาณ 65 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือพิสูจน์ความจริง เพราะไม่มีปัญญาชำระหนี้ ก่อนที่ศูนย์ดำรงธรรม ดีเอสไอ ยุติธรรม ฝ่ายกฎหมายและงานทะเบียน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เข้าไกล่เกลี่ยและตรวจสอบ กระทั่งมีการแจ้งความกล่าวโทษประธานและกรรมการบริหารในข้อหาฉ้อโกง ตามข่าวที่เสนออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอัยการ จ.กาฬสินธุ์ ได้ส่งฟ้องศาล จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561
ข่าวน่าสนใจ:
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สำนักงานอัยการ จ.กาฬสินธุ์ นายรัชดา จุฬารี อัยการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายนรเทพ ครบปัญญา อัยการเจ้าของสำนวนและคณะ ได้แถลงผลการตัดสินคดีส่งฟ้องนายไกรสวัสดิ์ แก้วคำหาญ อายุ 59 ปี ประธานสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 เป็นจำเลยคนที่ 1 กับนายบุญมา แก้วคำหาญ อายุ 69 ปี กรรมการสถาบันการเงินฯ เป็นจำเลยคนที่ 2 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน กู้เงินกับธนาคารออมสิน สาขาท่าคันโท
โดยนายรัชดา จุฬารี อัยการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าคดีสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 ดังกล่าว หลังจากอัยการ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับสำนวนจาก สภ.ท่าคันโท ได้ดำเนินการตรวจสอบสำนวนอย่างรัดกุมรอบคอบ โดยได้สอบปากคำประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย 88 ราย จากสำนวนทั้งหมด 8 แฟ้ม พบความผิด 15 กระทง ก่อนสรุปสำนวนให้ศาลพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสอง เป็นคดีดำหมายเลข 367/2561 และส่งฟ้องศาลกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 จำเลยมี 2 คนคือนายไกรสวัสดิ์ แก้วคำหาญ ประธานสถาบันการเงินชุมชนท่าคันโท หมู่ 9 เป็นจำเลยคนที่ 1 และนายบุญมา แก้วคำหาญ กรรมการสถาบันการเงินฯ เป็นจำเลยคนที่ 2 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน
ทั้งนี้จากการพิจารณา เป็นตามความผิดในมาตรา 83 เป็นฐานความผิดที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปฯ, มาตรา 91 เป็นฐานความผิดหลายกรรมต่างกันฯ และ มาตรา 343 เป็นฐานความผิดเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน โดยเห็นได้จากวิธีการหลอกลวง รวมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน และให้ส่งเงินคืนแก่ประชาชนผู้เสียหาย รวมจำนวน 17,000,000 บาท (สิบเจ็ดล้านบาทถ้วน) ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งสองให้การปฏิเสธ และขอประกันตัว แต่เนื่องจากไม่พร้อมในด้านหลักทรัพย์ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปฝากขังที่เรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ตอนเย็นของวันที่ 30 มกราคม 2561 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปก็จะอยู่ในกระบวนการของศาล ที่จะดำเนินการต่อไป
ด้านนางวราภรณ์ เปล่งแสง ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ แจ้งว่า ในส่วนของประชาชน ที่อ้างว่าถูกประธานฯและกรรมการสถาบันการเงินฯ ดังกล่าวหลอกให้กู้เงิน จนนำมาสู่การแจ้งความเป็นคดี และมีหมายศาลไปถึงนั้น จากการลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง และคัดแยกกลุ่มประชาชน ที่ได้รับหมายศาล ณ ปัจจุบัน สรุปประชาชนที่ร้องขอความช่วยจากกระทรวงยุติธรรม จำนวน 124 ราย จำแนกเป็นกลุ่มที่ศาลพิพากษาแล้ว 27 ราย, กลุ่มที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล 39 ราย, และกลุ่มที่ธนาคารออมสินบอกเลิกสัญญา 58 ราย รวมยอดเงินกู้ประมาณ 23,300,000 บาท ขณะที่ส่วนที่เหลือนั้นยังไม่ถึงรอบปีที่ทำสัญญากู้ฯ จึงยังไม่ได้รับหมายศาลที่ทนายความของธนาคารออมสินบอกยกเลิกสัญญา
นางวราภรณ์กล่าวอีกว่า ในรายที่ได้รับหมายศาลนั้น ยุติธรรม จ.กาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการช่วยเหลือโดยประสานกับศาล จ.กาฬสินธุ์ เพื่อขอเลื่อนหรือขยายระยะเวลาให้การต่อศาล ซึ่งสามารถเลื่อนได้รายละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ ให้นำหมายศาลมาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัด ซึ่งได้ตั้งโต๊ะรับเรื่องที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า โดยจะมีเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียน และอำนวยความสะดวกในการติดต่อกับศาล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: