กาฬสินธุ์ – พะยอม ดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอาจหาชมยาก เพราะไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีการอนุรักษ์เท่าที่ควร วีดีทัศน์ชุดนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อชาวกาฬสินธุ์ ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้รู้จัก และปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดต่อไป
พะยอม ดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ มีชื่อพื้นเมืองอื่นซึ่งชาวอีสานจะเรียก “กะยอม” พบได้ตามท้องไร่ท้องนาและในป่า ปัจจุบันต้นพะยอมเป็นต้นไม้ที่หายาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งชาวกาฬสินธุ์บางคนแทบจะไม่รู้ว่าดอกพะยอมมีลักษณะยังไง เราจึงขอพาทุกท่านไปชื่นชมความงามของดอกพะยอม ผ่านลำกลอนทำนองสารคาม ซึ่งได้รับเกียรติจากศิลปินหมอลำชื่อดัง อรสา แสงเพชร มาถ่ายทอดกลอนลำ และได้ครูเพลงฝีมือดีอย่าง นึก เนรมิตร มารังสรรค์กลอนลำ
ซึ่งมีเนื้อหาที่จะทำให้ทุกท่านซึมซับได้ถึงความงามของบุปผาแห่งเมืองน้ำดำ และใครที่ไม่เคยเห็นว่าดอกพะยอมมีลักษณะแบบไหน ก็จะได้รู้จักกัน และหวังว่าชาวกาฬสินธุ์จะร่วมกันอนุรักษ์ หรือบางท่านอาจจะอยากหาต้นพะยอมมาปลูก ให้ดอกไม้ประจำจังหวัดของเราได้เป็นที่รู้จักและเพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้รู้จักด้วย
ข้อมูลของต้นพะยอม จากวิกิพีเดียอธิบายพันธุ์ไม้ชนิดนี้ไว้ว่า พะยอมเป็นไม้ยืนต้นประเภทพืชใบเลี้ยงคู่ชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae พบได้ในกัมพูชา, อินเดีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ไทย และเวียดนาม มีลักษณะใบที่เรียงสลับกัน ดอกมีสีขาว กลิ่นหอม นิยมนำเนื้อไม้ไปใช้ในการก่อสร้าง ลักษณะคล้ายกับต้นตะเคียน
พะยอมเป็นไม้ต้นสูง 15 – 30 เมตร เปลือกสีเทาเข้มแตกเป็นร่อง ใบเดี่ยวออกสลับ รูปขอบขนานกว้าง 3.5 – 6.5 เซนติเมตร ยาว 8 – 15เซนติเมตร ปลายมนหรือเป็นติ่งสั้นๆ โคนมน ขอบเป็นคลื่นผิวเกลี้ยงเป็นมัน ดอกสีขาว กลิ่นหอมจัดออกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่งและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกันแบบกังหันเมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร เกสร ตัวผู้ 15 อัน ผลรูปรีกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเจริญไปเป็นปลีกยาว 3 ปลีกสั้น 2 ปลีกคล้ายผลยาง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: