พัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ติวเข้มผู้ประกอบการโอทอป เกรด D ปรับตัวสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าและช่องทางจำหน่ายสร้างรายได้มากขึ้น
ที่ห้องประชุมทศพร โรงแรมริมปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายประจักษ์ จอมทรักษ์ พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา โดยมีนายนรินทร์ เกล้าจะโป๊ะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชาย สิกขา และเจ้าหน้าที่ ทีมวิทยากร จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เครือข่ายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ร่วมโครงการจำนวนมาก
นายประจักษ์ จอมทรักษ์ พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2561 ให้ จ.กาฬสินธุ์ ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา หรือกลุ่ม D ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่จำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้า ให้มีการเพิ่มมูลค่า มีรายได้ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอป ให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม มีองค์ความรู้ด้านการตลาด การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ขายได้
นายประจักษ์กล่าวอีกว่า กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ โอทอป ใน จ.กาฬสินธุ์ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ สรุปล่าสุดจำนวน 1,305 ราย 2,061 ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร 337 ผลิตภัณฑ์ ประเภทเครื่องดื่ม 27 ผลิตภัณฑ์ ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย 609 ผลิตภัณฑ์ ประเภทของใช้ตกแต่ง ของที่ระลึก 940 ผลิตภัณฑ์ และประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 147 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่ในส่วนประเภทผู้ประกอบการ มีกลุ่มผู้ผลิตชุมชน 1,092 ราย เจ้าของรายเดียว 207 ราย และ SMEs 6 ราย ทั้งนี้ ได้มีการจัดระดับผลิตภัณฑ์โอทอป ที่ผ่านการลงทะเบียน ตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ เกรด A กลุ่มดาวเด่น ผลิตได้มาก และต่อเนื่อง คุณภาพสูง จำนวน 80 ราย เกรด B กลุ่มอนุรักษ์คุณค่า ผลิตได้น้อย คุณภาพสูง จำนวน 93 ราย เกรด C กลุ่มพัฒนาสู่การแข่งขัน คุณภาพพื้นฐาน ผลิตได้ง่าย ไม่ซับซ้อน จำนวน 124 ราย และ เกรด D กลุ่มปรับสู่การพัฒนา ยังไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 1,763 ราย
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์โอทอป กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา หรือกลุ่ม D ในครั้งนี้ จึงเป็นการแนะแนวเคล็ดลับและเติมเต็มองค์ความรู้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ให้ได้รับการพัฒนายกระดับคุภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด และมีความสามารถในการแข่งขันทางตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังหวังผลไปที่ความยั่งยืนของกิจการ และสามารถจำหน่ายหรือส่งออกได้มากกว่าเดิม 10%
อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับหรือสูตรแห่งความสำเร็จ ที่แนะแนวให้ผู้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เกรด D กลุ่มปรับสู่การพัฒนา คือให้มองที่ศักยภาพของตัวเอง และต้องมองให้รอบด้านว่าตลาดต้องการอะไร ทำอย่างไรจะเพิ่มมูลค่า และผลิตออกมาแล้วขายดี ขายได้ “ที่สำคัญคือดำเนินการตามสามห่วง คือพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี และสองเงื่อนไข คือ ความรู้ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และ คุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยันอดทน สติปัญญา แบ่งปัน ซึ่งก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 10 นั่นเอง” นายประจักษ์กล่าวในที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: