X

คนรุ่นใหม่มองอนาคตการเมืองไทย

ตอบ 10 ข้อคำถามพรรคการเมืองใหม่ โอกาสและกติกาที่ท้าทาย ชี้โลกก้าวหน้าหมดยุคพรรคทหารตอบชัดทุกประเด็น โดยอนุชา สิงหะดี ประธานฯคนรุ่นใหม่ จ.กาฬสินธุ์

1. #มองในระดับเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ใคร? “ได้เปรียบ-เสียเปรียบ” ในการหาตัวผู้สมัครระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า

– ในประเด็นนี้ ต้องถามกลับไปว่า พรรคใหม่แต่ละพรรคที่ว่านั้น ใครเป็นหัวหน้าพรรค? ใครเป็นกรรมการบริหารพรรค? ใครเป็นที่ปรึกษาพรรค? พูดง่ายๆว่าต้องดูโครงสร้างพรรค ดูหน้าตาของคนทำพรรคก่อนว่าเป็นอย่างไร? แต่ถ้าพรรคใหม่ ได้นาย(ก) นาย(ข)… หรือบุคคลที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีบารมีในวงสังคม ถึงแม้มีคนรู้จักทั่วประเทศ ก็ยากยิ่งที่ทำพรรคใหม่แล้วจะมีผู้สมัครในพื้นที่จังหวัดต่างๆเข้าร่วมด้วย

ซึ่งในประเด็นนี้ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 118 เขต ผมยังให้น้ำหนักไปที่พรรคเก่าทั้ง 5 พรรค (เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์) ยังมีความได้เปรียบพรรคใหม่อย่างมากในการหาตัวผู้สมัครรายเขตเลือกตั้งครับ

2. #ยากไหม? ที่พรรคใหม่จะหาผู้สมัครรายเขตให้ครบทั้ง 350 เขตทั่วประเทศ

– เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรครับ เพราะมีปัจจัยหลายๆอย่างที่ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดจะตัดสินใจเข้ารวมกับพรรคใหม่ ซึ่งต้องดูในหลายปัจจัย อาทิเช่น ศักยภาพของกลุ่มบุคคลที่มาทำพรรค หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ที่ปรึกษาพรรค เงินทุนพรรค นโยบายพรรค และรวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะดูแลผู้สมัครรายเขตนั้นอย่างไรบ้าง

ซึ่งหากความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวไม่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัด ผมมองว่าโอกาสที่พรรคใหม่จะวางตัวผู้สมัครได้ครบทุกเขตนั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควรครับ

3. #มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ไหม? ที่พรรคใหม่จะเกิดกระแสมาแรงเหนือพรรคเก่า เหมือนพรรคไทยรักไทย เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2544 ที่ผ่านมา

– ในประเด็นนี้ผมมองว่า คงไม่มีโอกาสที่พรรคใหม่พรรคใดจะทำได้อย่างพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 ครับ เพราะด้วยเหตุผลของความนิยมในพรรคเก่ายังคงมีอยู่ บวกกับเมื่อดูกลุ่มคนที่ออกมาปรากฏตัวในการยื่นจดจัดตั้งพรรคใหม่ในห้วง 2-3 วันที่ผ่านมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในแถวที่ 3, 4, 5,… ของการเมืองทั้งนั้น แต่ก็มีบ้างที่เป็นคนดังในโลกโชเชียล แต่อย่างไรก็ตาม คนเหล่านั้นหรือกลุ่มการเมืองใหม่เหล่านั้น เมื่อดูศักยภาพในเบื้องต้นแล้ว ไม่น่าจะปั่นกระแสพรรคใหม่ให้เหนือพรรคการเมืองเก่าได้ครับ

4. #เห็นตามสื่อต่างๆลงข่าวว่าจะมีคนรุ่นใหม่ทายาทเจ้าสัวนักธุรกิจระดับหมื่นล้านเตรียมจะทำพรรคการเมืองใหม่ มองในประเด็นนี้อย่างไร?

– ผมเองในฐานะคนรุ่นใหม่ มองในประเด็นนี้ว่า หากคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานการเมืองในมิติใหม่ ยึดโยงกับประชาชน ทำนโยบายที่จับต้องได้ เข้าถึงชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์จากนโยบายทางการเมือง(อย่างแท้จริง) และชูการนำใหม่ “คนรุ่นใหม่ไม่ขัดแย้ง เดินหน้าเปลี่ยนประเทศไทยสู่ยุคใหม่” หากทำได้จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ และผมเองก็อยากเห็นการเมืองในมิติใหม่ๆแบบนั้นครับ

แต่ถามว่าในปัจจุบันนี้ มีคนรุ่นใหม่สักกี่จังหวัด ที่ให้ความสนใจในการเมืองระดับชาติ และมีศักยภาพมากพอที่จะรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีหลักคิดทางการเมืองเหมือนกัน เข้ามารวมกลุ่มกันได้ ซึ่งส่วนมากที่เป็นอยู่ คือ “คนมีเงินอยากเป็นนักการเมือง แต่ไม่เข้าหาชาวบ้าน” และอีกด้านคือ “คนที่เข้าหาชาวบ้านกลับไม่มีเงิน”

และในประเด็น “ทายาทเจ้าสัวนักธุรกิจระดับหมื่นล้าน เตรียมจะตั้งพรรคการเมืองใหม่” ผมมองว่าตั้งพรรคการเมืองใหม่คงไม่ยากสำหรับคนที่มีเงินระดับหมื่นล้าน แต่ที่จะยากคือ ยากเพราะกติกาที่ออกแบบไว้ กล่าวคือ กฎหมายใหม่ให้กาบัตรใบเดียว แบบเขตเลือกตั้ง ไม่มีกาบัตรให้กับบัญชีรายชื่อเหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นั้นหมายความว่า ลูกเจ้าสัวต้องหาตัวผู้ลงสมัครแบบเขตเลือกตั้งทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะทำคะแนนให้ได้มากที่สุด ถึงแม้อาจจะไม่ชนะในเขตเลือกตั้งใดๆเลย แต่หวังรวบรวมคะแนนจากทั่วประเทศแล้วได้มากกว่า 8 หมื่นคะแนนขึ้นไป ก็ทำให้ได้คะแนนในระบบบัญชีราย แต่คำถามคือ? จะหาใครมาร่วมด้วย? ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองอย่างดุเดือดของฐานพรรคการเมืองเก่าในปัจจุบันนี้ และทายาทเจ้าสัวที่ว่ามานั้นก็ใหม่แกะกล่องทางการเมืองและไม่เคยออกพื้นที่พบปะประชาชนเลย

อีกอย่างหากคนรุ่นใหม่ทายาทนักธุรกิจหมื่นล้าน อยากเล่นการเมืองแต่หากจะใช้หลักคิดและทำการเมืองแบบการเมืองยุคเก่า ที่นักการเมืองไม่ลงพื้นที่เข้าหาประชาชน มีแต่หอบเงินมาซื้อเสียงในวันเลือกตั้ง ซึ่งผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ หากพรรคการเมืองคิดแต่จะหอบเงินมาซื้อเสียงจากชาวบ้าน โอกาสที่จะถูกใบแดง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง เสี่ยงเข้าคุก และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง มีสูงมากๆครับ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแข็งขันกันสูง

ซึ่งในประเด็นนี้ผมขอฟันธงว่า ทายาทเจ้าสัวนักธุรกิจระดับหมื่นล้าน ไม่ลงพื้นที่ ไม่ยึดโยงกับชาวบ้าน หวังจะหอบเงินมาลุยการเลือกตั้ง ผมมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะได้เสียงเข้าสภาครับ

5. #พรรคใหม่ส่วนใหญ่มีโอกาสจะหนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯคนนอกหลังเลือกตั้ง มองในประเด็นนี้อย่างไร?

– จากที่ผมได้ติดตามข่าวกลุ่มต่างๆที่เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่วนมากยังคงสงวนท่าที เดินสายกลางอยู่ ไม่ออกตัวสนับสนุนบิ๊กตู่อย่างออกหน้าออกตา จะเห็นมีก็แต่เพียงกลุ่ม “ประชาชนปฏิรูป” ของนายไพบูรณ์ นิติตะวัน เท่านั้น ที่ประกาศชัดว่าจะสนับสนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯต่อหลังการเลือกตั้ง ส่วนกลุ่มอื่นๆอีกกว่า 40 กลุ่มนั้น ผมมองว่าน่าจะเดินหมากการเมืองในสายกลางมากกว่า เพราะน่าจะรอดูกระแสของบิ๊กตู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งครับ

6. #พรรคใหม่บางพรรคหรือหลายพรรค เป็นพรรคลูกหรือเป็นพรรคสาขาของพรรคเก่า มองประเด็นนี้อย่างไร?
– ในประเด็นนี้ผมมองว่า ลึกๆแล้วมีแน่นอนครับ แต่คงเป็นในลักษณะของพรรคเก็บตกคะแนน รวมกลุ่มตั้งพรรค หวังลงทุนทางการเมืองสัก 300-400 ล้านบาท กะจะเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อสัก 4-5 คน ซึ่งหากถามว่าตัวเลข ส.ส.ที่ได้ มีผลทางการเมืองมากไหม ผมมองว่าไม่มากครับ ซึ่งความยากของการทำพรรคการเมืองภายใต้กติกาใหม่นี้ คือเรื่องของการหาตัวผู้สมัครและรวมถึงการเตรียมคนทำไพรมารีโหวต ซึ่งจะต้องมีทั้งเงินทุนและมีทั้งมวลชนในระดับพื้นที่ จึงจะสามารถส่งผู้สมัครได้ครับ

7. #ในพื้นที่ภาคอีสานมองว่าพรรคใหม่มีโอกาสที่จะเจาะฐานเสียงเอาชนะพรรคเก่าได้บ้างไหม
– ในประเด็นนี้ ส่วนตัวผมมองว่า “เป็นไปได้ยากมากๆ” ที่พรรคใหม่จะเจาะฐานเสียงพรรคเก่าได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ดีที่สุดตีตื้นคะแนนเข้ามาได้ในอันดับที่ 3 ถึง 4 ของอันดับคะแนนเลือกตั้งในเขตนั้นได้ก็ถือว่าเยี่ยมแล้วครับ เพราะอะไร?

เพราะพรรคใหม่หาผู้สมัครยาก และเมื่อหายากแล้ว ก็จำเป็นจะต้องจับเอาอดีตนักการเมืองท้องถิ่น เช่น อดีตนายกฯอบต. อดีตนายกฯเทศบาล อดีต สจ. หรือข้าราชการเกษียร มาลงสมัคร ซึ่งในส่วนนี้ผมยังมองว่า คะแนนหรือความนิยมยังห่างชั้นมากกับพรรคเก่าที่อยู่ในสนามเลือกตั้งระดับชาติมานานครับ โอกาสที่พรรคใหม่จะเจาะฐานเสียงเอาชนะพรรคเก่านั้นยากมากๆครับ

8. #คิดว่านโยบายพรรคใหม่จะดึงดูดแนวร่วมหรือคะแนนเสียงออกจากพรรคเก่าได้หรือไม่?
– คงยากครับ เพราะถ้าพรรคเกิดใหม่ไม่มีศักยภาพอย่างโดดเด่นมากๆ ทั้งในเรื่องของเงินทุน และชื่อเสียงของกลุ่มคนทำพรรค การที่จะปั่นกระแสพรรคใหม่ให้ดังเหนือพรรคเก่าได้ ผมมองว่ามีโอกาสน้อยมากที่คนที่ชื่นชอบพรรคเก่าอยู่แล้วจะเปลี่ยนใจหันไปชอบในนโยบายพรรคใหม่

9. #ในพื้นที่ภาคอีสานคิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ชาวบ้านจะให้ความสนใจพรรคใหม่หรือพรรคเก่ามากน้อยกว่ากัน?

– ส่วนตัวแล้วผมยังคงเชื่อว่า ความนิยมในพรรคเก่า หลักๆ 5 พรรค คือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์ ก็ยังคงมีอยู่ แต่ความนิยมในตัวของ ส.ส.รายเขตของแต่ละจังหวัดนั้น มีลดลงแน่นอนครับ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ใช้ชื่อพรรคเป็นตัวดึงคะแนนจากชาวบ้าน ส่วนตัวของ ส.ส.นั้นไม่ได้ให้ความสำคัญในการลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชนเท่าไหร่ ซึ่งจะลงพื้นที่หาชาวบ้านก็เฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งเท่านั้น

ซึ่งผมมองว่า การแข่งขันชิงคะแนนอันดับหนึ่งในแต่ละเขตเลือกตั้งของภาคอีสาน น่าจะยังอยู่ที่ 5 พรรคการเมืองเก่าครับ (เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ประชาธิปัตย์) แต่ก็ไม่ได้ปิดกันโอกาสของพรรคใหม่ทั้งหมด ถ้าหากพรรคใหม่วางคนที่มีผลงานโดดเด่น (มีผลงานอย่างชัดเจนในพื้นที่) ก็มีโอกาสที่พรรคใหม่จะทำคะแนนสู้กับพรรคเก่าได้เช่นกันครับ

สุดท้าย 10. #คนรุ่นใหม่มองอย่างไร? กับคำว่า #พรรคทหาร

ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า “พรรคทหารหมดยุคไปจากสังคมไทยแล้วครับ”

ขอขอบคุณครับ
นายอนุชา สิงหะดี
ประธานเครือข่ายคนรุ่นใหม่พัฒนากาฬสินธุ์ (คมพ.กส.)

อดีตอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน