กอ.รมน.กาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการ 9101 ของกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 และกลุ่มชุมชนบัวบาน 2 หลังพบเอกสารการเสนอโครงการซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าความเป็นจริงและแพงกว่าท้องตลาด พร้อมกำชับให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ย้ำหากพบทุจริตฟันไม่เลี้ยง
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด ของกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 และกลุ่มชุมชนบัวบาน 2 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีการเสนอซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ยชีวภาพแพงเกินความเป็นจริงและราคาสูงกว่าท้องตลาด
ล่าสุดที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ นายอภิรัตน์ ภูตีกา เกษตรอำเภอยางตลาด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอยางตลาด และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบการดำเนินโครงการ พร้อมกำชับให้คณะกรรมการของชุมชนดำเนินโครงการอย่างโปร่งใส่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมสูงสุด ตามนโยบายรัฐบาล โดยมีนายพิษณุ ภูบุญทน ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 ในฐานะประธานคณะกรรมการกลุ่มชุมชนบัวบาน 1 นายเกรียงไกร โม้แพง กำนัน ต.บัวบาน ในฐานะประธานกลุ่มชนชนบัวบาน 2 พร้อมด้วยคณะกรรมการทั้งสองกลุ่มเข้าชี้แจง
นายเกรียงไกร โม้แพง กำนัน ต.บัวบาน ในฐานะประธานกลุ่มชนชนบัวบาน 2 กล่าวว่า สำหรับราคาการซื้อปัจจัยการผลิต พันธุ์ข้าวเปลือกนาปรังราคา 700 บาท พันธุ์ปลาดุกราคาตัวละ 3 บาท หัวอาหารปลาดุกราคากระสอบละ 550-600 บาท และปุ๋ยชีวภาพกระสอบละ 550 บาทนั้น เป็นเพียงการกำหนดเสนอราคาซื้อต่อคณะกรรมการระดับอำเภอเท่านั่น โดยยึดราคากลางของตลาดในปี 2560 ที่ผ่านมา และยังไม่ได้เป็นซื้อจริง ทั้งนี้ล่าสุดคณะกรรมการได้ร่วมกันประชุมและมีมติที่จะซื้อปัจจัยการผลิตทั้งหมดกับผู้ที่มาเสนอราคาต่ำสุดแล้ว โดยพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง กข 10 จะซื้อกระสอบละ 560 บาท ปุ๋ยชีวภาพกระสอบละ 440 บาท พันธุ์ปลาดุกขนาด 7-10 ซม.ตัวละ 2.50 บาท และหัวอาหารปลาดุกโปรตีน 30-32 % กระสอบละ 500-600 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ผู้ประกอบการและเตรียมที่จะดำเนินการจัดซื้อ เพื่อจะที่นำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านแล้ว ส่วนกรณีการร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ ว่า มีการทำรายชื่อชาวบ้านตกหล่น และสำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเกินความเป็นจริงนั้น คณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วและยืนยันว่าไม่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตกหล่นหรือมีการสำรวจเกินจริงแต่อย่างใด
ด้าน พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เบื้องต้นนอกจากจะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินการ โดยเฉพาะราคาการซื้อปัจจัยการผลิตแล้ว ยังได้กำชับและเน้นย้ำให้คณะกรรมการทุกกลุ่มดำเนินโครงการให้มีความโปร่งใส เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ได้มีอาชีพ ลดรายจ่ายสร้างรายได้ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะคงยังดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ผลประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาชนต่อไป ซึ่งหากพบการทุจริต โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องถูกดำเนินการเด็ดขาด
ขณะที่นายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์มีการดำเนินการโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จำนวน 161 ชุมชน 392 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,913 ครัวเรือน ครอบคลุม 18 อำเภอ รวมจำนวนเงิน 139,585,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาทางผู้ว่าราชการจังหวัดและนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยทางเกษตรจังหวัดก็ได้กำชับให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบลคอยทำหน้าที่ดูแลและคอยแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับด้านการเกษตรเท่านั้น ส่วนการจัดหาหรือจัดซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละชุมชน ทั้งนี้หากพบเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดซื้อก็จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: