ชาวผู้ไทหลายจังหวัดภาคอีสานตอนบน กว่า 2,000 คน ร่วมพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ พร้อมร่วมพิธีเหลา เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีและส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ด้วยความสุข เดินทางปลอดภัย
ที่บริเวณหอทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) เชิงสะพานลำพะยัง บ้านดอนจันทร์ หมู่ 10 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประกอบพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา (ด้วง) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 2 และพระธิเบศร์วงศา (กินรี) อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์คนที่ 3 พร้อมกับร่วมฟ้อนรำกับชาวผู้ไท ในการสาธิตพิธีเหลาหรือการรักษาคนป่วยตามความเชื่อของชาวผู้ไทเผ่าต่างๆ โดยมีนายประเสริฐ บุญเรือง อดีต ส.ส.กาฬสินธุ์ นายเทพรัตน์ ตันตยานนท์ นายอำเภอเขาวง นายประยงค์ โมคภา รองนายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายราเมศร์ เลิศล้ำ ส.อบจ.เขตอำเภอเขาวง และประชาชน ซึ่งเป็นชนเผ่าผู้ไท 100% ร่วมงานกว่า 2,000 คน
นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวผู้ไท เป็นคนพื้นเมืองที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีอย่างเหนียวแน่น อาศัยอยู่พื้นที่หลายจังหวัดภาคอีสานตอนบน โดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ ในเขต อ.เขาวง อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง และ อ.คำม่วง วัฒนธรรมประเพณีของชาวผู้ไท จึงเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีเสน่ห์ อาทิ วัฒนธรรมในด้านของการแต่งกาย ด้านของภาษา ด้านงานหัตถกรรม ที่มีรูปแบบสวยงาม เรียบง่าย ประณีต แต่แฝงด้วยคุณค่า เช่น ผ้าไหมแพรวาที่เลื่องชื่อ รวมทั้งเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้สิ่งที่ยังคงอยู่คู่สังคมชาวผู้ไทคือพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องของภูตผี วิญญาณ บรรพบุรุษ ยึดมั่นในความกตัญญู ที่สืบทอดมาแบบรุ่นต่อรุ่นอย่างไม่เสื่อมคลาย เช่น พิธีเหยา หรือการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้สิ่งที่ไม่ตัวตน ด้วยการขอขมาและร่ายรำ ซึ่งถือปฏิบัติช้านานหลายชั่วอายุ
นายไกรสรกล่าวอีกว่า ความเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทดังกล่าว ถือเป็นจุดแข็งที่สามารถเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชาวผู้ไทได้เป็นอย่างดี ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันจัดพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศาฯ อดีตเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ พร้อมร่วมพิธีเหยา เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ ให้บุตรหลาน ที่มาเยี่ยมบ้านได้ร่วมในพิธี ที่แสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเป็นโอกาสดีที่ชาวผู้ไทจากหลายอำเภอในจังหวัดใกล้เคียง เช่น มุกดาหาร สกลนคร นครพนม ก็ได้มาพบปะ เชื่อมความสัมพันธ์ พร้อมสาธิตพิธีเหยาหรือการรักษาอาการเจ็บป่วยตามความเชื่ออีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ลำพูน บุกจับบุหรี่ไฟฟ้าล็อตใหญ่ ทำเนียนปลอมเป็นไรเดอร์ แต่วิ่งส่งบุหรี่ไฟฟ้า
- นครพนม ทหารพรานสนธิกำลังยึดยาบ้าเกือบ 2 แสนเม็ด! ตรวจพบฝิ่นดิบกว่า 3 กิโลกรัม ริมแม่น้ำโขง
- สูงวัยตรัง ปลื้ม เตรียมตัวรับเงินหมื่น ฝันใช้ยามแก่-ต่อยอดอาชีพบั้นปลาย
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
ด้านนายพัสดุ อัคติ อายุ 66 ปี บ้านเลขที่ 157 ซึ่งเป็น “หมอเหยา” หรือ “คณะเหยา” หมู่ 2 ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนรับการถ่ายทอดเป็น “หมอเหยา” มาจากบรรพบุรุษมากว่า 10 ปี ซึ่งการเป็นหมอเหยานั้น เกิดจากเคยมีอาการเจ็บป่วยมาก่อน รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย สุดท้ายหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งชุมชนชาวผู้ไทเชื่อว่าสถิตอยู่ ณ หอทะหลา หรือมเหศักดิ์หลักเมือง ชาวผู้ไทแต่ละเผ่าจะมีกรรมวิธีเหยาที่คล้ายคลึงกัน ที่ต่างกันอาจจะเป็นเพียงเครื่องบวงสรวงเซ่นไหว้ หรือพานบายศรี ที่จัดแต่งสักการะ แต่มีจุดหมายเดียวกันคือบอกกล่าว ขอขมา และร่ายรำช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย โดยมีการเล่นดนตรีพื้นเมืองประกอบจังหวะ
นายพัสดุกล่าวอีกว่า เหยาเป็นการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้กำลังใจคนป่วย สร้างพลังให้ต่อสู้กับโรคภัยที่มาเบียดเบียน สำหรับตนนั้นเคยมีอาการเจ็บป่วย พอได้รับการรักษาด้วยการเข้าพิธีเหยา โดยเข้าพิธีอย่างสม่ำเสมอ อาการก็หายเป็นปกติ กระทั่งได้รับความเชื่อถือเป็นหมอเหยาในปัจจุบัน และนำคณะเหยาช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พิธีเหยา ซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นการทำนายหรือดูลางบอกเหตุในบางกรณีได้ เช่น สมัครเข้าทำงาน ติดตามคนหายหรือของหาย
อย่างไรก็ตาม ในการประกอบพิธีเลี้ยงทะหลา (มเหศักดิ์หลักเมือง) บวงสรวงอนุสาวรีย์พระธิเบศร์วงศา พร้อมร่วมพิธีเหลา เป็นงานประจำปีของชาวผู้ไท ซึ่งชาวผู้ไทเชื้อสายต่างๆ จากหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนบน ซึ่งเป็นคนภูไทแท้ 100% จะเดินทางมาตุ้มโฮมและร่วมพิธีเป็นประจำทุกปี โดยสาธิตการประกอบพิธีเหยาแบบประชันกันสุดๆ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี และปลูกจิตสำนึกลูกหลาน ที่มาเยี่ยมบ้านและก่อนเดินทางกลับไปทำงานหลังสงกรานต์ ได้รักบ้านเกิด ได้ร่วมกันขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสริมสิริมงคลส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ด้วยความสุข และเดินทางปลอดภัย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: