X

กสร.ชี้แจง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มาจากการพิจารณายกร่างโดยคณะกรรมการไตรภาคี และเปิดรับฟังความคิดเห็นวิเคราะห์อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงทุกฝ่าย สร้างความเข้าใจแก่นายจ้าง ลูกจ้าง

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงประเด็นที่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 โดยชี้แจงว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าวทำโดยคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายภาครัฐ และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพ ซึ่งมีผู้เข้าร่ว 297 คน รวมทั้งได้เปิดรับฟังผ่านทางเว็บไชต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th) ในช่วงระหว่างวันที่ 24 เมษายน ถึง 26 พฤษภาคม 2560 มีเข้าชม 235 คน

โดยความเห็นที่ผ่านทั้งสองช่องทางส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากเป็นการขยายการคุ้มครองลูกจ้างมากขึ้น แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เห็นว่าอาจเพิ่มภาระให้นายจ้าง ซึ่งก็ได้นำผลการรับฟังมาวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำคำชี้แจงเหตุผลและเปิดเผยให้ประชาชนทราบทางเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาโดยตลอด นอกจากนี้ ในการพิจารณาร่างของสภานิติบัญญัติก็ได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาด้วย

กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิของผู้ทำงานที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานโดยคำนึงถึงผู้ที่ทำงานกับนายจ้างมาเป็นเวลายาวนาน 20 ปีขึ้นไปให้ได้ค่าชดเชย ที่เหมาะสมและเป็นหลักประกันในกรณีที่ต้องออกจากงานในขณะที่เป็นผู้สูงวัย รวมทั้งเพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างลากิจได้ปีละ 3 วันโดยได้รับค่าจ้าง และคุ้มครองดูแลสิทธิของแรงงานสตรีให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับแรงงานชายหากทำงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ตลอดจนดูแลแรงงานสตรีที่มีครรภ์ โดยเพิ่มจำนวนวันลาคลอดเพื่อให้ครอบคลุมช่วงการตรวจครรภ์ด้วย

นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับบทบัญญัติบางประการ อาทิ การเพิ่มสิทธิค่าชดเชย 400 วันให้ลูกจ้างที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไปและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้นายจ้างบ้างแต่เป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกจ้างที่ทำงานมายาวนาน มีอายุมาก หากถูกเลิกจ้างหรือเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างให้สามารถดำรงชีพได้ภายหลังจากออกจากงานไปแล้วและอาจหางานใหม่ได้ยาก อย่างไรก็ตามหลังจากที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและก่อนที่กฎหมายฉบับแก้ไขนี้จะมีผลลบังคับใช้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้เร่งสร้างความเข้าใจแก่นายจ้างและลูกจ้างทั่วประเทศทั้งในส่วนของหลักการและเหตุผลของกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องภายใต้ความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน