X

หนองคาย อธิบดีกรมชลประทานติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงแก้แล้งน้ำท่วม

หนองคาย –   อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่หนองคาย ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง สร้างระบบชลประทาน แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างถาวร พร้อมดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 ส.ค. 63 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ ได้ติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ที่สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย รับฟังความคืบหน้าของโครงการ ปัญหาอุปสรรค และติดตามการก่อสร้างบริเวณพื้นที่โครงการ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยัง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร ส่วนฤดูฝนจะเกิดน้ำหลาก โดยเฉลี่ยแล้วจะมีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 9,000 ไร่ในแต่ละปี ซึ่งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 วงเงินดำเนินการ 21,000 ล้านบาท แผนงานโครงการ 9 ปี โดยจะแล้วเสร็จในปี 2569 ภายในโครงการจะมีสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง งานอาคารบังคับน้ำตามลำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง งานระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ และระบบควบคุมอุทกภัยอัจฉริยะ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขต จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ส่งน้ำใหพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่สชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ ของ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี โดยมีครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน มีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทาน นอกจากนี้ยังจะมีการผลักดันให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ในอนาคตอาจมีการจัดสรรให้เป็นตลาดชุมชนร่วมด้วย

ขณะนี้การดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 2.77 ช้ากว่าแผนงานที่วางไว้ร้อยละ 0.14 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 19 ส่งผลกระทบกับการขนส่งวัสดุและโรงงานผลิตเครื่องสูบน้ำจากต่างประเทศขนส่งล่าช้า ส่วนผลสืบเนื่องจากระดับน้ำโขงที่ลดลงจากปกติ แม้ว่าระดับจะเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณน้ำก็ยังต่ำว่าทุกปี จะไม่ส่งผลกระทบกับโครงการในระยะยาวเนื่องจากได้มีการศึกษาผลกระทบในช่วงภาวะน้ำโขงลดระดับต่ำสุดมาแล้ว ทำให้มีการวางระบบรองรับปริมาณน้ำไว้แล้ว.

………………………….

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน