นายณธัชพงศ์ รักศรี (นัน) วัย 45 ปี อาชีพพนักงานสินเชื่อธนาคารแห่งหนึ่ง ใน กทม. และนายธนเดช ไชยพัฒรัตนา (กอร์ฟ) วัย 33 ปี อาชีพวิศวกร ในบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ทั้งสองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน หันมาประกอบอาชีพเกษตรที่บ้านเกิด โดยเริ่มต้นเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ และลองผิดลองถูกด้วยตนเองตั้งแต่ปี 2559 ประกอบกับใช้วิชาความรู้จากงานประจำมาประยุกต์ใช้และพัฒนาระบบงานในฟาร์ม ทั้งสวนมะนาว พืชผักสวนครัว และฟาร์มจิ้งหรีด จนได้รับมาตรฐาน GAP และเกิดเป็น “เปี่ยมสุขฟาร์ม” ขึ้น มุ่งหวังต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์สะดิ้ง และจิ้งหรีดส่งออกต่างประเทศ ในพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ที่ตำบลวังไก่เถื่อน อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท จากสถานการณ์โควิด-19 แม้ไม่ได้มาอยู่ที่ฟาร์มทุกวันแต่ได้ใช้เทคโนโลยีในการดูแลบริหารจัดการในฟาร์ม เช่น การวีดีโอคอล การใช้ระบบกล้องวงจรปิด ระบบตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนแบบเรียลไทม์
นายธนเดช ไชยพัฒรัตนา เปิดเผยว่า“จุดเริ่มต้นของเรา คืออยากมองหาธุรกิจที่เราจะทำกัน ได้ลองค้นคว้าลองหาดูว่าอะไรบ้างที่เราพอทำได้ ที่บ้านเราทำการเกษตรกันอยู่แล้ว มองว่าการเกษตรในอนาคตสามารถทำได้ระยะยาว ยั่งยืนโดยที่ทุกคนยังต้องกินต้องใช้ จึงมองหาว่าเกษตรอะไรที่เราจะเริ่มทำ คุยกับพี่นันว่าเราทำอะไรสักตัวไหม สรุปมาแล้ว ได้มะนาวเป็นตัวแรก ที่เราสนใจทำมะนาวแต่แรก เนื่องจากเห็นว่ามะนาวมีราคาที่สูงขึ้นทุกปี จึงเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นอาชีพในอนาคตที่สามารถเลี้ยงเราได้”
ด้าน นายณธัชพงศ์ รักศรี กล่าวว่า สำหรับตลาดของผลผลิตในฟาร์ม ในส่วนของมะนาวมีผลผลิตออกทั้งปี กลุ่มลูกค้าเป็นผู้บริโภคทั่วไป ร้านอาหาร โรงแรม ขายตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ผักปลอดสารพิษทุกชนิด ส่งขายให้ผู้บริโภคทั่วไป และในส่วนของแมลง มีการเลี้ยงอยู่ 2 แบบ คือ จิ้งหรีด (ตัวสีดำ) กับ สะดิ้ง(ตัวสีน้ำตาลอ่อน) ตลาดของจิ้งหรีด ส่งแปรรูปเป็นจี้หรีดทอดกรอบ ยังบริษัทที่ได้มาตรฐาน GMP จำหน่ายให้กลุ่มลูกค้าทั่วไป และในเพจของเปี่ยมสุขฟาร์ม สำหรับ สะดิ้ง ส่งโรงงานแปรรูปผง เพื่อทำผงโปรตีนทั้งหมด การทำงานของเปี่ยมสุขฟาร์ม ก่อนจะลงมือทำแต่ละโครงการ อันดับแรกเราต้องศึกษาก่อนว่าตลาดของสินค้าเราอยู่ที่ไหน ส่วนที่สองต้องคิดโครงสร้างการลงทุน ว่าการลงทุนด้วยเม็ดเงินนี้ จะสามารถสร้างผลผลิตจากการลงทุนตรงนี้ได้เท่าไร ระยะเวลาการคืนทุนเป็นอย่างไร และบริหารจัดการทำอย่างไรให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อจะไปต่อยอดกับตลาดในต่างประเทศด้วย ส่วนที่สองเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมผลผลิตจากฟาร์มเราทั้งหมด อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นของเสีย เราเลยคิดว่าอะไรที่จะกำจัดของเสียและสร้างมูลค่าต่อได้อีก เราจึงดูเรื่องของหนอนแมลงวันลาย มากำจัดของเสียไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารเศษผักที่เหลือจากการเลี้ยงจิ้งหรีดหรือฟาร์มต่างๆที่เรามีอยู่ไปย่อยสลายจากนั้นเอาหนอนไปเลี้ยงไก่ ส่วนมูลหนอนทั้งหมดเรานำไหใส่ต้นไม้เป็นปุ๋ยต่อ”
การดำเนินงานของเปี่ยมสุขฟาร์ม ถือได้ว่าเป็นธุรกิจเกษตรคุณภาพ ที่มีมาตรฐานรับรอง ตั้งเป้าหมายเป็นฟาร์มที่สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกต่างประเทศได้ ผู้สนใจศึกษาดูงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟสบุค “เปี่ยมสุขฟาร์ม” หรือโทรศัพท์หมายเลข 088-6395354
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: