ที่ JM FARM นกกรงหัวจุกแฟนซี เลขที่ 55 หมู่ 2 ตำบลโพธิ์งาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท นายกิตติเดช แสงเจริญ (โจ๊ก) วัย 38 ปี นอกจากได้ช่วยพ่อแม่ดูแลกิจการรับซื้อ-ขายข้าวเปลือกแล้ว ยังได้เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกแฟนซี กว่า 100 คู่ จนได้นกเผือกแก้มใหญ่(อินโด)หนึ่งเดียวในประเทศไทย ชื่อ “เพชรสยาม” ราคาประเมินค่าไม่ได้
นายกิตติเดช กล่าวว่า ตนเรียนจบระดับมัธยม 6 ได้มาช่วยครอบครัวประกอบธุรกิจส่วนตัว คือรับซื้อ-ขายข้าวเปลือก ต่อมาได้เริ่มรู้จักและสัมผัสกับการเลี้ยงนกหัวจุก ส่งเข้าแข่งขัน ช่วงแรกเป็นนกสีดำ พอไปเห็นนกด่างของคนอื่น จึงเริ่มเสาะหาสายพันธุ์ และเริ่มเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกเองเมื่อ 7 ปีก่อน ได้เรียนรู้ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ช่วง 4 ปีแรก เพาะได้ลูกนกแฟนซีออกมาหลายสี เช่น นกขาว นกด่าง นกสีเทา และนกสีโอวัลติน
ข่าวน่าสนใจ:
โดยปกตินกกรงหัวจุกแฟนซีเป็นสีดำ แต่เราได้พัฒนาชั้นสายพันธุ์ จนเป็นนกกรงหัวจุกออกมาได้หลากสี ทั้งสีขาว สีเทา สีโอวัลติน จะไม่เหมือนธรรมชาติ จนก่อตั้งเป็น JM Farm ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้มีกว่า 100 กรงผสม จำนวน 200-300 ตัว โดยนก 1 คู่ จะให้ลูกครั้งละ 2-3 ตัว ในหนึ่งปีให้ลูกได้ถึง 7 คอก นกกรงหัวจุกแฟนซีมีอายุขัย 20-25 ปี
สำหรับราคานกกรงหัวจุกแฟนซี นกสีขาว ราคาตัวละ 60,000-70,000 บาท สีโอวัลติน ราคาตัวละ 40,000 – 150,000 บาท สีเทากลาง ราคาตัวละ 50,000 บาท สีเทาอ่อน ราคาตัวละ 100,000 – 200,000 บาท ล่าสุด ได้ผลิตนกอินโดเผือก หรือ เผือกแก้มใหญ่(อินโด) เพาะได้เป็นตัวแรกและมีตัวเดียวในประเทศไทย และในอาเซียน ชื่อ “เพชรสยาม” ราคาประเมินค่าไม่ได้ แต่น่าจะเกิน 500,000 บาท เท่าที่มีการตรวจสอบ ทราบมาว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่สามารถเพาะนกกรงหัวจุกได้ สำหรับตลาดของนกกรงหัวจุกแฟนซี ที่ทางฟาร์มส่งออก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
นกกรงหัวจุกแฟนซี ไม่เพียงสร้างรายได้ให้กับคนเพาะเลี้ยงเท่านั้น ยังสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านหลายอาชีพ เช่น ช่างทำกรงนก คนเลี้ยงหนอนนก คนเย็บมุ้งครอบกรงนก รวมทั้ง คนปลูกผัก ผลไม้ที่นกกิน ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะละกอ แก้วมังกร
ความนิยมนกกรงหัวจุกสมัยก่อน เพราะชอบตรงที่มีสีสันสวยงาม แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อเป็นเกมกีฬา นำไปแข่งขันร้องกัน ใครร้องมากกว่าเป็นผู้ชนะ มีเงินรางวัล เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเลี้ยงนกด้วยกันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เวลามีงานครั้งหนึ่งคนเลี้ยงนกและครอบครัวจะมาร่วมแข่งขัน จากนั้นร่วมสังสรรค์พูดคุยสร้างความสามัคคีให้กับผู้คนที่เลี้ยงนกด้วยกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: