X

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง(มีคลิป)

ที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อศรีเมือง หมู่ที่ 5 ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ชาวบ้านหางน้ำสาคร ร่วมกันจัดพิธีกรรมใหญ่ ไหว้บรรพบุรุษ หรือไหว้ผีโรง  โดยกำหนดจัดงานขึ้นในปีที่มีเดือน 8 สองเดือนติดต่อกัน (8 สอง 8)  กำหนดงานเป็นวันอังคาร หรือ วันเสาร์ ต้นเดือน 7 ประเพณีการไหว้ผีโรง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผีกระบอก” คำว่า ผีโรงหรือผีกระบอกนี้ คงเป็นคำเฉพาะในท้องถิ่นแต่คงไม่ได้หมายความว่า เป็นผีที่อยู่ในโลงหรือยู่ในกระบอก  แต่คงจะเป็นวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ลูกหลานก็ยังนับถือเพื่อให้ปกป้องคุ้มภัย โดยมีความเชื่อว่า หากบ้านใดมีการนับถือคนในบ้านก็ต้องนับถือทุกคน  เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว ทำให้ทำมาค้าขึ้น ร่ำรวย และอยู่เย็นเป็นสุข

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง

ส่วนบุคคลที่เกิดจากตระกูลที่นับถือบรรพบุรุษ แล้วย้ายไปอยู่ต่างถิ่น เมื่อถึงกำหนดงานปี จะต้องกลับมาประกอบพิธีทุกครั้ง ซึ่งความเชื่อนี้นอกจากคนในท้องถิ่นตำบลหางน้ำสาครแล้ว ยังมีบ้านหนองโพ  บ้านเขาทอง  บ้านวังกรด ในจังหวัดนครสวรรค์ และ บ้านกลำ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ที่มีการประกอบพิธีนี้เช่นกัน โดยใช้ชื่องานเหมือนกันว่า “งานปีไหว้ผีเรือน (ผีโรง)”

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง

พิธีดังกล่าว จัดขึ้น 2 วัน วันแรกจะเป็นการประกอบพิธีกรรม “เป่าผี”  จัดขึ้นบริเวณสามแยกกลางหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลหางน้ำสาคร  ซึ่งเป็นการเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ปกป้องคุ้มครองภัยในหมู่บ้านที่ทุกๆคนมาประทับร่างทรง  โดยมีการบรรเลงมโหรีขับกล่อมตลอดพิธีกรรม

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง

และวันที่สองจะ ประกอบพิธีกรรมใหญ่ในการทำพิธีไหว้นั้น บุคคลที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวบ้านหางน้ำสาครแต่กำเนิด ครัวเรือนละ 1 คน จะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้วางบนไม้กระดานพาดไว้บนกระบุงที่คว่ำไว้เป็นฐาน เครื่องเซ่น ประกอบด้วย เหล้า บุหรี่ หมาก ขนมกง ขนมนางเล็ด และบายศรีปากชาม (บายศรียอดข้าว) ซึ่งประกอบด้วยข้าวตอก ขนมนางเล็ด และผลไม้มี กล้วย ส้ม ที่สำคัญคือ มะพร้าวแก่ที่กำลังงอก ซึ่งหมายถึงความเจริญของคนที่นำมาเซ่นไหว้ด้านหลังของเครื่องเซ่นไหว้ จะมีหลักไม้ปักไว้สำหรับแขวนกระบอกและกางร่ม ภายในกระบอกจะปักเทียนไขไว้ มาตั้งเรียงรายไว้ข้างทางบริเวณศาลพ่อปู่ศาลเหนือ (เจ้าพ่อศรีเมือง) บริเวณสามแยก หมู่ที่ 5 ตำบลหางน้ำสาคร ระยะทางที่วางเครื่องเซ่นไหว้ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร (253 ศาล)

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง

เริ่มจากผู้เป็นร่างทรงทั้ง 6 ร่าง ประกอบด้วย  เจ้าพ่อศรีเมือง  เจ้าพ่อไฟ เจ้าพ่อใหญ่ เจ้าพ่อลำดวน  เจ้าพ่อโรง  เจ้าพ่อทองลากชาย  ประทับทรงที่ศาลกลาง โดยร่างทรงทุกองค์จะนุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบเฉียง มือถือดาบแบบคนโบราณ เดินตรวจเครื่องเซ่นไหว้ของผู้นำมาร่วมในพิธีกรรม ในการเดินตรวจศาล (บายศรี) นั้น  จะมีร่างทรงนางห้ามเดินตรวจด้วย  มีการบรรเลงมโหรีขับกล่อมตลอดเส้นทาง  เมื่อตรวจศาลเรียบร้อยแล้ว จะพักระหว่างกึ่งกลาง ระหว่างคนตั้งของไหว้เพื่อให้คนที่นับถือมาให้เป่าศีรษะ ขอความเป็นสิริมงคล และมีการรับสะใภ้หรือเขยใหม่  ที่เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านที่นับถือโดยมีดอกไม้ ธูป เทียน ใส่กรวยขอรับการเป็นสมาชิกผีโรง

ชาวบ้านหางน้ำสาครจัดประเพณีท้องถิ่นงานปีไหว้ผีโรง

ต่อจากนั้น จะเป็นพิธีการฟันศาล  โดยเริ่มจากร่างทรงเจ้าพ่อ พร้อมร่างทรงนางห้าม จะร่ายรำตามจังหวะมโหรีเพื่อใช้ดาบ (โบราณ) ฟันศาล แล้วผ่ามะพร้าวเพื่อเป็นการเสี่ยงทายของผู้นำเครื่องเซ่นไหว้มาร่วมพิธีทุกๆพานโตก และบายศรี เป็นการเสร็จพิธีเมื่อเสร็จพิธีนางห้าม ทุกคนก็จะเดินเก็บของเซ่นไหว้ทุกอย่างมารวมกันไว้ที่ศาลกลาง เพื่อเป็นทานให้กับผู้เข้าร่วมประเพณี ได้ดื่ม และรับประทานทั่วกันทุกคน เพื่อเป็นสิริมงคล โดยไม่นำเครื่องเซ่นไหว้กลับเข้าบ้าน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน