“นายอภิชา อินสุวรรณ” รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ เผยต่อกรณีที่มากระแสข่าวมหาวิทยาลัยพายัพ ยกที่ดินส่วนตึกภราดรภาพให้องค์กรองค์กรหนึ่งนั้น ว่า ข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยพายัพ ไม่ได้มอบที่ดินในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเขตแม่คาว ให้กับองค์กรใดๆทั้งสิ้น โดยที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยพายัพในการถือครอง
แต่มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมในอนาคต ซึ่งจะร่วมมือกับมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยพายัพ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงการต่างๆ จึงได้พักไว้ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ เพื่อให้รูปแบบการดำเนินงานบริหารพื้นที่เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อมหาวิทยาลัยพายัพและชาวเชียงใหม่ หากมีความคืบหน้า มหาวิทยาลัยพายัพจะได้ชี้แจงสื่อมวลชนในโอกาสต่อไป
ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่า จำนวนนักศึกษาต่างชาติลาออกเป็นจำนวนมากนั้น มหาวิทยาลัยพายัพ ขอชี้แจงว่า จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาศึกษาต่อในหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัยพายัพ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีนักศึกษาเดินทางมาจาก 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ ตุรกี เยอรมัน ฮ่องกง จีน พม่า ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางเข้ามาเรียนทั้งหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรไทย เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักศึกษาชะลอการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย จึงได้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เข้ามาทดแทนในรายวิชาที่เป็นทฤษฎี
สำหรับวิชาที่ต้องมีการปฏิบัติ มหาวิทยาลัยพายัพ จะดำเนินการจัดการเรียนการสอนภายหลังจากที่สถานการณ์ดีขึ้น และนักศึกษาสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยได้ติดต่อสื่อสารกับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบการลาออกของนักศึกษาที่มีปัญหาจากการเรียนแต่อย่างใด มหาวิทยาลัยพายัพยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน และหลักสูตรใหม่ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในยุคใหม่ ทั้งหลักสูตรปกติ และจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ที่สนใจเรียนออนไลน์ เพราะมหาวิทยาลัยพายัพเชื่อว่า โลกของการศึกษาในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียนเสมอไป
รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยพายัพมีนักศึกษารวมทั้งหมด 4,300 คน ได้รับผลกระทบไม่มากนัก จำนวนการรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือเป็นหลัก
มหาวิทยาลัยพายัพ ได้พัฒนาและเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของนักศึกษา ทำให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่นักศึกษาตัดสินใจมาเรียน ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาธุรกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีทางการเงิน กลุ่มเป้าหมาย นักศึกษาที่มีความสนใจด้านการเงิน การลงทุน การเทรดหุ้นและสกุลเงินดิจิทัล / สาขาวิชาการบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (ปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติ) กลุ่มเป้าหมาย เป็นผู้ประกอบการ นักศึกษาที่จบปริญญาตรีที่มีความสามารถบริหารจัดการงานธุรกิจในยุคดิจิทัล นักธุรกิจที่มีความสามารถผลิต จำหน่ายขายสินค้า ให้บริการแบบข้ามพรมแดน (cross border business) นักวิเคราะห์โครงการ ซึ่งรวมถึงการเป็นที่ปรึกษาการบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัยด้านบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล และสาขาบริการศึกษา (ปริญญาโท และปริญญาเอก) กลุ่มเป้าหมาย บุคลากรสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มความรู้ เพื่อการเตรียมพร้อมเป็นผู้บริหารในสถายันการศึกษาต่างๆ
อีกทั้งมหาวิทยาลัยพายัพ ยังได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง พร้อมทั้งออกมาตรการในการช่วยเหลือนักศึกษาเพิ่มเติมจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำหนดมา คนละ 5,000 บาท โดยรัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักศึกษาโดยตรง ในส่วนของมหาวิทยาลัยไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล
เนื่องจากมหาวิทยาลัยพายัพ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มีผลกระทบทางการเงินเพียงเล็กน้อย และมีมาตรการในการช่วยเหลือนักศึกษา โดยให้นักศึกษาแบ่งจ่ายค่าเทอมได้ ในสถานการณ์ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในด้านที่ไม่จำเป็นลง เพื่อรักษากระแสเงินสด และได้มีการปรับปรุงทัศนียภาพ อาคารเรียน อุปกรณ์การเรียน เพื่อให้พร้อมใช้งานเมื่อสามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: