เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายธงศักดิ์ เกิดสุข ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ และประธานชมรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นหนังสือผ่านนายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัด ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องขอถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากกระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด
โดยนายธงศักดิ์ กล่าวว่า ตามแผนกระจายอำนาจหน่วยงานท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้มีการโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีหน่วยงานนี้กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลต่างๆรวม 320 แห่ง และสมัครใจมาอยู่กับ อบจ.จำนวน 120 แห่ง แต่สภา อบจ.อุบลราชธานี อนุมัติงบประมาณรับสถานีอนามัยและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้ามาก่อนในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 54 แห่ง มีบุคลากรสมัครใจถ่ายโอนมาด้วย 327 ราย
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม น้องขวัญ นำทัพกลุ่มนครพนมร่วมใจ เปิดตัว ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
- คู่แข่งนอกสายตานายก ก้อย “พนธ์ มรุชพงษ์สาธร” ขอวัดดีกรีว่าที่นายก อบจ.แปดริ้ว
แต่ปรากฏว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขอนุมัติให้ถ่ายโอนมาได้เพียง 9 แห่ง ซึ่งน้อยกว่าที่ผู้สมัครใจต้องการ พร้อมทั้งยังมีการตัดลดงบประมาณจากที่มีการตั้งไว้จากสถานีขนาดใหญ่ กลาง และเล็กลงอีก ในส่วนการตัดลดงบประมาณ เจ้าหน้าที่ที่ต้องการถ่ายโอนเข้าใจได้ เพราะประเทศกำลังประสบกับโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ต้องมีการลดงบประมาณลงมา แต่ในส่วนของการโอนถ่ายที่ไม่เป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับการดูแลผู้ป่วยที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลแต่ละแห่งรับผิดชอบอยู่ เพราะปัจจุบันนอกจากมีผู้ป่วยโควิด 19 ยังมีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในท้องถิ่นให้ดูแลมากกว่ากำลังคนที่สถานีอนามัยและ รพ.ส่งเสริมสุขภาพมีอยู่
“โดยตนทำงานอยู่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลมานาน 35 ปี กระทรวงสาธารณสุขมีอัตรากำลังให้เพียงแห่งละ 3 คน ทั้งที่ต้องมีไม่ต่ำกว่า 7 คน ทำให้เกิดเป็นภาระงานล้นมือในแต่ละปี ผู้ป่วยตามท้องถิ่นไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ เพราะทางโรงพยาบาลต้องอาศัยกำลัง อสม.เข้าช่วยมาเสริมตลอด แต่เมื่อไปอยู่กับ อบจ.จะสามารถบรรจุเจ้าหน้าที่เข้ามาได้ตามกรอบอัตราที่ตั้งไว้ตามปริมาณคนป่วยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี” จึงต้องการไปอยู่กับ อบจ. เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างเต็มที่กว่าที่ผ่านมา
ด้านนายกานต์ กัลป์ตินันท์ นายก อบจ.อุบลราชธานี กล่าวถึงการรับถ่ายโอนสถานีอนามัยและ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล อบจ.มีความพร้อมด้านงบประมาณ สามารถรับโอนมาบริหารจัดการทั้งอัตรากำลังคนและเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ ได้ตามที่สมัครใจทั้งหมด
โดยปีนี้ขอรับโอนมา 54 แห่ง แต่ไม่เข้าใจกระทรวงสาธารณสุขติดขัดอะไร ถึงยอมให้ถ่ายโอนมาเพียง 9 แห่ง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงออกมาร่วมเรียกร้อง เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขโอนมาให้ตามที่ได้ขอไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ตามสถานีอนามัยและ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: