นครศรีธรรมราช- เครือข่ายภาคประชาชนชาวนครศรีธรรมราชกว่าร้อยคน สวมเสื้อเหลือง จุดเทียนถวายความจงรักพักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมอ่านคำแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทบทวนโครงการคลองผันน้ำบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช และเรียกร้องให้ตรวจสอบการอ้างโครงการพระราชดำริ ของผู้ว่าราชการจังหวัด
วันที่ 25 กันยายน 2561 ที่บริเวณ ม.1 ต.ไชยมนตรี อ.เมืองจ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน กว่า 100 คน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการคลองผันน้ำฯ ในพื้นที่ ต.ไชยมนตรี และใกล้เคียง รวมตัวกัน อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้ทบทวนโครงการคลองผันน้ำบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งที่งบประมาณสูงถึง 9,580 ล้านบาท เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไปในอนาคต
โดยเครือข่ายภาคประชาชนมีมติร่วมกัน 3 ข้อคือ
1. ขอให้สั่งหยุดโครงการไว้ก่อน แล้วเร่งพิจารณาทบทวนแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดสำหรับเมืองนคร โดยต้องร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยราชการ นักวิชาการที่เป็นกลาง และภาคประชาชน
2. ขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองนครอย่างครอบคลุม และยุติธรรมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Stakeholder) ตั้งแต่แหล่งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อย่าหมักหมมจนเกิดปัญหาไร้ทางออก แล้วมาลงกับประชาชนตาดำๆ อาทิ รัฐต้องเข้มงวดเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำทำลายลำน้ำ โดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งเร่งแก้ไขผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ มิใช่จะมาแก้ปัญหาแต่ที่ปลายเหตุ
3. ขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชแอบอ้างเบื้องสูง นำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาบิดเบือน ข่มขู่รังแกประชาชน ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว เพียงแค่เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์แห่งตนโดยปราศจากธรรมาภิบาล และขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว อันที่จริงแล้วท่านซึ่งเป็นข้าราชการต้องทำหน้าที่โดยสุจริต คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก มิใช่ประโยชน์สุขของตัวท่านเอง
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชน แสดงความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าวว่า “การที่รัฐบาลจะใช้งบประมาณแผ่นดินมากถึง 9,580 ล้านบาท ต้องรอบคอบมากกว่านี้ โครงการดังกล่าวเป็นการศึกษาเก่าที่กรมชลประทานจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 ซึ่งล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ แหล่งน้ำ ป่าไม้ หรือเทคโนโลยี/องค์ความรู้สำหรับการจัดการน้ำในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคใต้ อีกทั้งจะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่รู้จบ”
ขณะที่นายวรา จันทร์มณี ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับหลักการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองนคร แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ไม่เป็นธรรมาภิบาล รัฐต้องทำการบ้านมากกว่านี้ มิใช่รีบรวบรัดตัดตอนโดยมิได้ฟังเสียงประชาชน หากท่านดึงดันแต่จะทำโครงการแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ผู้มีอำนาจมาแล้วก็ไป ทิ้งให้ประชาชนรับกรรมที่ตนไม่ได้ก่อตลอดชีวิต
ขณะที่การดำเนินการของจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่โปร่งใส มีความพยายามที่จะเร่งรัดโครงการ ไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำเพียงจัดฉากการประชุม ในการประชุมจังหวัดทุกวันอังคาร โดยที่ภาคประชาชนไม่ได้เข้าร่วม นอกจากนี้ชาวบ้านพบข้อมูลว่า มีคำสั่งให้จับตาการกระทำการใดๆ ก็ตามที่จะออกมาในลักษณะคัดค้านหรือเห็นต่างจากโครงการ
ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่กล่าว ทราบว่า ที่ผ่านมาการรายงานข้อเท้จจริงให้หน่วยงานราชการไม่เป็นไปตามความจริง ซึ่งล่าสุด ได้มีเจ้าหน้าที่จากชลประทานลงมาสำรวจครัวเรือนที่ได้รับผลกับโครงการดังกล่าว พร้อมนำกลับไปรายงานให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดทราบว่า มีเพียงไม่ถึง 10 ครัวเรือนที่ยังคงมีการคัดค้านอยู่
ขณะที่ชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีไม่ต่ำกว่า 1 ร้อยครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบและยังคงคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้าน ของเจ้าหน้าที่โดยใช้ห้องประชุมสภา อบต.ไชยมนตรี มีการเชิญชาวบ้านที่ไม่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมรับฟัง แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับไม่มีการแจ้งข้อมูลให้ทราบ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: