นครศรีธรรมราช : สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดแถลง หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มถึง 10 คน เป็น 26 คน ยืนยันความพร้อมรองรับผู้ป่วย 250 เตียง และเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 300 คน พร้อมขอเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
วันที่ 15 เมษายน 2564 นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อโควิด-19 ใน จ.นครศรีธรรมราช ว่า ตามที่วันนี้ (15 เมษายน 2564) พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้วรวม 26 คน โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น 10 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและอยู่ในการดูแล 6 คน และเป็นผู้ป่วยพบใหม่อีก 4 คน ขณะนี้ผู้ป่วยทั้งหมดเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลในพื้นที่แล้ว
สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นนั้น ได้เร่งดำเนินการใน 2 ส่วน ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมด้านสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 250 เตียง และยังได้รับความร่วมมือจาก กองทัพภาคที่ 4 และภาคีความร่วมมือในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 250-300 เตียงด้วย
สสจ.นครศรีธรรมราช ยังประเมินสถานการณ์ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายน 2564 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดมากขึ้น และแพร่กระจายสู่หลายพื้นที่ จึงขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกระดับ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพื้นที่ใดพบผู้ป่วยสูงหรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวนมากเกินกำลังทีมสอบสวนและควบคุมโรคระดับอำเภอ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอสนับสนุนทีมเจ้าหน้าที่จากอำเภอใกล้เคียง
ส่วนอำเภอที่ยังไม่มีพบผู้ติดเชื้อ/ผู้สัมผัสโรค ขอให้เตรียมทีมให้พร้อมเพื่อรับการสนับสนุนการปฏิบัติการในอำเภอที่มีการระบาดอยู่ รวมทั้งขอให้บุคลากรทุกคน ติดตามสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในทุกระดับอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกคน เคร่งครัดในการปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHTT (เว้นระยะระหว่างกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น , สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทุกครั้งที่ออกจากบ้าน , หมั่นล้างมือบ่อย ๆ , ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างต่อเนื่อง , ใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ หรือลงทะเบียนการเข้าใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ ทุกแห่งด้วย
ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคนั้น นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี ระบุว่า ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานด่านหน้าและมีโอกาสสัมผัสโรคโดยตรง หลังจากนี้ หากได้รับวัคซีนเพิ่ม จะเร่งฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในพื้นที่ให้เร็วที่สุด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ :
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: