นครศรีธรรมราช : สสจ. เผย ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตอีก 1 ราย รวม 4 ราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 28 ราย ส่วนใหญ่คลัสเตอร์วงพนันร่อนพิบูลย์ พร้อมห่วงกลุ่มใหม่ ‘ทรงเจ้าเข้าผีจากพัทลุง และคลีนิกเถื่อนใน อ.ลานสกา’
วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดนครศรีธรรมราช วันนี้ (3 พ.ค.64) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเมษายน เพิ่ม 28 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 437 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 374 ราย รักษาหายเพิ่ม 16 ราย สะสม 59 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 รายเป็นชายอายุ 80 ปี รวม 4 ราย
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตรายที่ 4 เป็นบิดาของตำรวจท่องเที่ยว อยู่ในกลุ่มสนามฟุตบอล 100 พิปูน ซึ่งตำรวจนายดังกล่าวรักษาหายแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างกักตัว และขณะนี้ยังมีสมาชิกของครอบครัวที่ยังคงรักษาอยู่ในโรงพยาบาล
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 ราย อยู่ใน อ.ร่อนพิบูลย์มากถึง 15 ราย, อ.เมืองนครศรีธรรมราช 5 ราย, พิปูน 4 ราย, พระพรหม 2 ราย, ทุ่งสงและบางชัน อำเภอละ 1 ราย
ในจำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล 374 ราย มีอาการหนัก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 5 คน รวมถึงภรรยาของผู้ที่ตั้งตัวเป็นหมอเถื่อน ‘คลินิกหมอวี’ ใน อ.ลานสกา จึงขอแจ้งเตือนประชาชน อ.ลานสกา ให้สังเกตอาการตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่เคยไปรักษาคลินิกหมอวี ข้างวัดโคกโพธิ์สถิตย์ ต.กำโลน ให้กักตัวเอง หากไม่มั่นใจก็ให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน ซึ่งพรุ่งนี้ (4 พ.ค.) สาธารณสุขจะเข้าไปค้นหาเชิงรุกผู้ติดเชื้อในชุมชน
ข่าวน่าสนใจ:
- เปิดพร่องระบายน้ำเพื่อเร่งไหลลงทะเล รับมืออีกระลอก
- ขอนแก่นเข้มต่อเนื่อง!!เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติด รวบคู่รักนักค้ายา หลังฝ่ายชายเพิ่งพ้นโทษจากเรือนจำ
- ปราจีนบุรี สลดหนุ่ม 45 ถูกช้างป่าอ่างฤาไนทำร้ายเสียชีวิต
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
อีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหม่ที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มไปร่วม ‘กิจกรรมทรงเจ้าเข้าผี ใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง’ ซึ่งมีคนชะอวดไปร่วมอยู่ด้วย ส่วนคลัสเตอร์วงลักลอบเล่นการพนันใน อ.ร่อนพิบูลย์นั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะเป็นผู้เล่นพนันทุกคน แต่หมายความว่าในทางระบาดวิทยานั้น มีความเชื่อมโยง กล่าวคือ มีผู้ที่ไปเล่นพนันแล้วติดเชื้อ หลังจากนั้นนำเชื้อกลับไปติดต่อกับครอบครัว ภรรยา และลูก และอาจมีแนวโน้มเกิดขึ้น จากกลุ่มลักลอบชนไก่ และการพนันอื่น ๆ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ย้ำเตือนประชาชนตั้งการ์ดสูงในการดูแลตัวเองและเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากมีข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยโควิด-19 เฉลี่ย 1 ใน 3 รายของมาเลเซีย เป็นผู้ป่วยจากสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยสายพันธุ์ดังกล่าวมีความรุนแรง และประสิทธิภาพของวัคซีนยังป้องกันเชื้อสายพันธุ์นี้ได้น้อย สำหรับการติดตั้งแอฟฟลิเคชั่น ‘หมอพร้อม’ ซึ่งตอนนี้มีการปรับปรุงระบบใหม่ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น แต่หากประชาชนท่านใดไม่สะดวกสามารถไปใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. หรือติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้จาก อสม.ในพื้นที่ได้ ย้ำว่าการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ร้อยละ 50 จะช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยได้
“คนที่เราเจอกันอยู่ทุกวันอาจจะไม่ปกติแล้ว คนที่นอนอยู่ข้าง ๆ ทุกวัน อาจจะไม่เหมือนเดิมถ้าออกไปข้างแล้ว ทุกคนต้องมีวินัยของตัวเอง ป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตร ร้านไหนดูแลสุขลักษณะไม่ดีก็ไม่ควรใช้ ไม่ควรอยู่ในพื้นที่อับชื้นนาน ๆ ช่วง 2 สัปดาห์นี้ ไม่ควรออกจากบ้านไปพบปะกับใคร เพื่อป้องกันตัวเอง” นายแพทย์จรัสพงษ์ กล่าว
ด้าน รพ.สิชล แจ้งข่าวดี ส่งผู้รักษาหายกลับบ้านได้อีก 4 คน อยู่ในครอบครัวเดียวกัน
นายแพทย์อารักษ์ วงษ์วรชาติ ผู้อำนวยการ รพ.สิชล เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ ส่งผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 กลับบ้าน หลังจากรักษาหายดีแล้วและพักใน รพ.ครบ 14 วัน อีก 4 ราย เป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจดีมาก ผ่านการประเมินจากจิตแพทย์ และประสานทีมติดตามในพื้นที่ต่อเนื่องอีก 14 วัน
“ผมได้ถามเด็ก ๆ ว่า อยู่ที่นี่สนุกไหม หนูน้อยทั้งคู่บอกว่าสนุก ได้ระบายสี ต่อจิ๊กซอว์ ดูการ์ตูน ฟังนิทาน และกินพิซซ่าจากพี่หมอใจดี อร่อยมาก ๆ ระยะนี้จะมีข่าวดีๆที่ผู้ป่วยจะได้กลับบ้านต่อเนื่องทุกวัน เป็นกำลังใจให้แก่กันครับ” นายแพทย์อารักษ์ ระบุ
ขณะที่ รพ.สนาม ยังซักซ้อมแผนปฏิบัติ เพื่อรองรับสถานการณ์
วันนี้ (3 พ.ค.64) รพ.ท่าศาลา และ รพ.ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดซักซ้อมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จาก รพ.ท่าศาลา ไปยัง รพ.สนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ตั้งแต่การส่งตัวผู้ป่วยจาก รพ.ท่าศาลา จนถึงการรับตัวผู้ป่วยเข้าสู่ รพ.สนาม เพื่อให้เกิดความรัดกุม ปลอดภัยมากที่สุด รวมทั้งกรณีมีเหตุฉุกเฉิน โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) เหมือนการปฏิบัติงานจริงทุกขั้นตอน
รพ.สนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ใช้อาคารศูนย์พลศึกษา เบื้องต้น จัดเตรียมเตียงไว้ 106 เตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้ป่วย แยกฝั่งชาย-หญิงชัดเจน โดยแต่ละเตียงมีพื้นที่ 9 ตารางเมตร (3X3 เมตร) มีปลั๊กไฟให้ทุกเตียง พร้อม WIFI (ไวไฟ) ให้ใช้ฟรี
อ่านข่าวก่อนหน้าได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: