นครศรีธรรมราช : คลัสเตอร์พนันเมืองคอน สร้างปัญหา หลังผลตรวจชาวไชยมนตรีพันคน มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ 6 คน นำส่ง รพ.สนาม เข้ารับการกักกัน แต่ผลตรวจอย่างละเอียดปรากฏชัด “ไม่ติดเชื้อ” แต่ชาวบ้านพากันรังเกียจ ไม่เข้าใกล้ คนในครอบครัวเครียดค้าขายไม่ได้ วอนสังคมเห็นใจ ขณะหมอขอ อย่าหวาดระแวงกัน ยืนยัน ผลตรวจ PCR แม่นยำ
จากกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ชาวชุมชนบ้านวังรัก หมู่ 5 ต.ไชยมนตรี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1,000 คน ที่หอประชุมประชารัฐบ้านวังรัก หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สูงถึง 25 คน ทั้งหมดอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อตัดตอนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ตามมาตรการเชิงรุก เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา
โดยผลการตรวจด้วย Rapid Test (ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว) เพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกัน พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่จึงรีบนำตัวผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อจำนวน 6 คน ขึ้นรถตู้ของโรงพยาบาลออกจากพื้นที่ มุ่งหน้าไปยัง รพ.สนาม ที่ รพ.สิชล เพื่อเข้ารับการดูแลและกักกันป้องกันโรคทันที ท่ามกลางสายตาของชาวบ้านนับพันคนที่เข้ารับการตรวจ
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- ตรัง สถาบันพระบรมราชชนกเตรียมผลิต 9 หมอรุ่นใหม่ นวัตกรรมสุขภาพไทยสู่ระดับโลก
- สุราษฎร์ ฯ อ่วม ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน จนท.เร่งช่วยเหลือประกาศภัยพิบัติเพิ่มเป็น 8 อำเภอ เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
- กรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินลงพื้นที่จ.ตากดูบ้านมั่นคงเมืองแม่สอด
หลังการนำตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 เดินทางไปยัง รพ.สนาม ของ รพ.สิชลแล้ว ชาวบ้านต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ พูดต่อ ๆ กันตามร้านน้ำชา พร้อมส่งต่อข้อมูลออกไปในทางโซเชียลอย่างกว้างขวางและรวดเร็วว่า ทั้ง 6 คนติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่นำตัวไปกักกันแล้ว ทำให้ชาวบ้านพากันหวาดระแวงและกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้สมาชิกในครอบครัวของบุคคลทั้ง 6 โดยเฉพาะคนบ้านใกล้เรือนเคียงและคนรู้จัก ต่างพากันตีตัวออกห่าง ไม่มีปฏิสัมพันธ์ไปมาหาสู่ เนื่องจากกลัวจะติดเชื้อ จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา แม้แต่การค้าขายหาเลี้ยงชีพก็ยังได้รับผลกระทบ
อย่างครอบครัวของ นางหนูจัด ยอดมณีย์ หรือ อบต.มุ้ย อยู่บ้านเลขที่ 51/3 ม.5 ต.ไชยมนตรี อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น ส.อบต.อยู่ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน โดย อบต.มุ้ย เปิดใจว่า ขณะนี้รู้สึกเครียดมากกับผลกระทบที่ตามมา ชาวบ้านพากันพูดต่อ ๆ กันไม่หยุด ว่าลูกสาววัย 16 ปีของตนเอง ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คนที่ถูกนำตัวไป รพ.สิชล วันนั้น ติดเชื้อโควิด-19 แม้ตนเองได้ยืนยันอย่างหนักแน่นกับชาวบ้านทุกคนมาตลอดว่า ลูกสาวไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครยอมรับฟัง แถมตีตัวออกห่าง ไม่เข้าใกล้ อาชีพค้าขายทำกับข้าวแกงถุงส่งขายตามบ้านก็ต้องหยุด เนื่องจากไม่มีใครช่วยซื้อ เพราะกลัวว่าจะติดเชื้อโควิด ทำให้ขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น สภาพจิตใจก็ย่ำแย่ลงตามไปด้วย
อบต.มุ้ย กล่าวต่อว่า หลังเจ้าหน้าที่พาตัวลูกสาวไปเพียง 2 วัน ก็ได้รับคำตอบยืนยันผลการตรวจเชื้อชัดเจน จาก รพ. พร้อมใบรับรองแพทย์ ว่าไม่พบเชื้อโควิด-19 ในตัวลูกสาว รวมถึงผู้ต้องสงสัยทั้งหมดที่ไปพร้อมกัน โดยทาง รพ.ได้พานั่งรถพยาบาลกลับมาส่งถึงหน้าบ้านด้วยความปลอดภัยและไม่มีอาการใด ๆ แม้ว่าการกลับมาครั้งนี้ของลูกสาว ดูเหมือนเป็นการกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติก็ตาม หลังได้รับผลยืนยันที่ชัดเจน สร้างความมั่นใจให้กับตนเองและครอบครัว ถือเป็นการได้ล้างมลทินที่ติดตัวอยู่ ไม่ต้องเป็นที่ครหาน่ารังเกียจของสังคม แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้วก่อนนี้ กลับไม่ได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง จากคำพูดของชาวบ้าน โดยเฉพาะความคิดของคนในสังคม
“อยากวิงวอนให้ทุกคนเห็นอกเห็นใจ และช่วยกันสื่อสารบอกต่อ ๆ กัน แก้ไขในความผิดพลาดที่เกิด เพื่อให้พวกเราได้มีที่ยืนในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป” อบต.มุ้ย กล่าว
ทั้งนี้ ใบรับรองผลการตรวจของ รพ.สิชล ระบุถึงบุคคลที่ได้รับการตรวจว่า เป็นผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด ได้มาเข้ารับการตรวจคัดกรอง และพักรักษาใน รพ. ตั้งแต่วันที่ 12-15 พ.ค.64 ซึ่งผลการตรวจ PCR ระบุชัดเจนว่า “ไม่พบเชื้อ” แต่เห็นสมควร จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-29 พ.ค. 64
ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ผลตรวจ PCR แม่นยำ วอนสังคมอย่าตั้งข้อรังเกียจหรือหวาดระแวงกัน
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Rapid Test เป็นการตรวจที่สามารถให้ผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อจะคัดกรองผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อออกมาให้ได้เร็วและจำนวนมากที่สุด เพื่อการควบคุมโรค แต่อาจจะเกิดผลบวกปลอมได้ หรืออาจจะเกิดความเข้าใจผิดในด้านการสื่อสาร จึงจำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR (พีซีอาร์) ที่ให้ผลแม่นยำ และเมื่อผลตรวจทาง PCR ออกมาเป็นลบ ถือเป็นการยืนยันว่า ผู้นั้นไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 สังคมจึงไม่ควรรังเกียจ
“ต้องขอโทษแทนบุคลากรทางการแพทย์ ที่อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร หรือการตรวจด้วย Rapid Test ที่อาจจะเกิดผลบวกปลอม เพราะทำไปด้วยความปรารถนาดี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และขอวิงวอน ขอความเมตตาจากสังคม อย่าได้รังเกียจผู้ต้องสงสัยหรือผู้ที่ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติสุข” นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยังให้ความมั่นใจว่า ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ รพ.สิชล ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงเจ้าหน้าที่ ตั้งใจทำงานอย่างหนักหน่วง อุทิศตนเพื่อดูแลผู้ป่วยและทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยิ่ง ส่วนการนำผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ไปเข้ารับการกักกันนั้น ยืนยันได้เช่นกันว่าเจ้าหน้าที่ดูแลและป้องกันอย่างดี จะไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อแน่นอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวเนื่องได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: