นครศรีธรรมราช : เกษตรกรชาวสวน มังคุด ‘ราชินีผลไม้’ นครศรีธรรมราช แสดงปฏิกิริยาเคลื่อนไหว หลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ คล้ายปีก่อน ๆ พากันทยอยสะท้อนปัญหาผ่านโซเชี่ยล ปลุกระดมนัดรวมพลแต่งดำไว้อาลัยราคา พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานหรือผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน คาดอาจมีการรวมตัวกันประท้วง เทผลผลิตกลางถนนเหมือนปีก่อน ๆ ในไม่ช้านี้
สืบเนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายน 64 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวสวน มังคุด หลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาทิ อ.เมือง อ.ลานสกา อ.พรหมคีรี อ.ท่าศาลา ฯ ซึ่งปีนี้ผลผลิตได้ออกก่อนฤดูกาลประมาณ 1 เดือน ทำให้ชาวส่วนต่างพากันแสดงความดีอกดีใจที่จะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขาย โดยคาดว่าน่าจะได้ราคาดี ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ แม้ที่ผ่านมาทุกคนจะต้องประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีพอย่างระมัดระวังต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเป็นความหวังเดียวของพี่น้องชาวสวนมังคุด ที่จะได้กอบโกยเงินเพื่อกู้สถานภาพความทุกข์ยากลำบากที่ผ่านมาโดยเฉพาะด้านการเงิน ให้สามารถกลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง
โดยทางผู้ประกอบการ หรือ (ล้ง) รับซื้อ ได้เปิดราคาในวันแรกของฤดูการเก็บเกี่ยว ที่ 53-55 บาท จนกระทั่งค่อย ๆ ลดราคาลงเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดวิกฤตปัญหาในด้านราคาที่ตกต่ำย่ำแย่ลงอย่างมาก เหลือเพียงกิโลกรัมละ 15-18 บาท และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ส่งผลให้ชาวสวนในหลายพื้นที่เริ่มมีปฏิกิริยาออกมาเคลื่อนไหว โดยการส่งเสียงสะท้อนปัญหาผ่านทางโซเชียล เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐรวมถึงผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเร่งเข้าแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้นาน อาจส่งผลให้พี่น้องชาวสวนนัดรวมตัวกันประท้วงเหมือนครั้งปีก่อน ๆ ที่เคยเกิดวิกฤตราคาตกต่ำถึงกิโลกรัมละ 8 บาทมาแล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
“ทั้งนี้ประเด็นปัญหาที่ถูกตั้งคำถามแต่ไม่เคยได้รับคำตอบในเรื่องราคาผลผลิตของพี่น้องชาวสวนมังคุดพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผลผลิตกระจายอยู่หลายอำเภอ โดยมีปริมาณผลผลิตจำนวนมากออกสู่ตลาดในแต่ฤดูกาล รวมถึงการที่ชาวสวนได้พัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง จนผลผลิตได้คุณภาพ แต่กลับไม่เคยได้ราคาที่สูงตาม เหมือนผลผลิตที่ออกจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งแต่ละปี ราคาหลักร้อยบาทไม่เคยประสบกับปัญหาราคาตกต่ำ ด้วยเพราะเหตุใด และใครเป็นผู้กำหนดราคา หรือที่ราคาตกต่ำนั้นเกิดจากการปั่นราคากันเองระหว่างผู้ประกอบการ (ล้ง) ที่เข้ามารับซื้อกันหรือไม่ ทำไมปัญหานี้จะต้องเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกรพื้นที่ภาคใต้แทบทุกฤดูกาล และเหตุใดจึงไม่มีใครหรือหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์จังหวัด หอการค้า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนโดยตรงย่อมรู้ถึงปัญหาดี ออกมาต่อสู้หรือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมได้เลย กลับปล่อยให้คาราคาซังแบบนี้ทุกปี“
จากข้อมูลของผู้ประกอบการรับซื้อ (ล้ง) รายหนึ่ง ในพื้นที่ อ.พรหมคีรี เผยว่า ราคาผลผลิตแรกเริ่มฤดูในปีนี้ที่ไม่พุ่งขึ้นสูงถึงหลักร้อย อย่างปีก่อน เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะผลที่เกิดจากวิกฤตของโรคระบาดทั่วโลก ส่งผลกระทบทางด้านการส่งออก อีกทั้งผลผลิตในปีนี้หลายจังหวัดทางภาคใต้ได้ออกผลผลิตพร้อมกัน อย่าง จ.พังงา จ.ระนอง จ.สงขลา จ.ยะลา เป็นต้น ทำให้ปริมาณของผลผลิตล้นตลาด รวมถึงผลผลิตที่ออกก่อนฤดูกาลร่วม 1 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่หมดฤดูกาลของผลผลิตในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออก ทำให้มีผู้ประกอบการ (ล้ง) รับซื้อ เข้ามารับซื้อน้อย และภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเทศผู้รับซื้อ (ปลายทาง) ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามายังประเทศเพื่อรับสินค้าได้ ส่งผลให้ภาคการส่งออกต้องหยุดชะงักลง
อย่างไรก็ตามคาดว่า ราคาไม่น่าจะตกต่ำลงไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะผลขนาดมาตรฐานส่งออก (เบอร์มัน) 80 กรัมขึ้นไป ราคาจะอยู่ประมาณ 25-30 บาท ส่วนราคาขายรวม (ขายเท) คาดว่าจะคงอยู่ที่ 15-20 บาท ตามสภาพและคุณภาพของผลผลิตแต่ละพื้นที่ เนื่องจากช่วงนี้ผลผลิตบางพื้นที่ต้องประสบกับปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลมีขนาดเล็กท้ายผลรูดเป็นขยุก เนื่องจากขาดน้ำ ประกอบกับเกิดภาวะลมพัดแรง ทำให้ผิวเปลือกของผลไม่มีความสวยงาม เป็นรอยช้ำลาย หลังเกิดการเสียดสีกันของผลกับใบ ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรในหลายพื้นที่ไม่ได้คุณภาพ โดยขอให้ชาวสวนหมั่นดูแลคุณภาพของผลผลิตให้ดีเพื่อที่จะได้คุณภาพสำหรับการส่งออกในราคาที่ดีขึ้นกว่า
ล่าสุดสถานการณ์ค่อนข้างเลวร้ายลง เมื่อราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ อ.ลานสกา วันนี้ ลดต่ำลงเหลือเพียง 12 บาทเท่านั้น โดยมีการรายงานให้กลุ่มเกษตรกรได้ทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งมีการเขียนข้อความผ่านทางโซเชี่ยลต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงชาวสวนทุกคนให้ร่วมกันหยุดเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 วัน ในวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค.64 ที่จะถึงนี้ และปลุกระดมมวลชนชาวสวนที่ประสบปัญหาทุกพื้นที่ แต่งชุดดำออกมาร่วมกันแสดงพลังเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าแก้ไขปัญหาโดยด่วน ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพรหมคีรี เพื่อไว้อาลัยให้กับราคาผลผลิตของมังคุดที่ตกต่ำในปีนี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: