นครศรีธรรมราช : กว่า 30 ปี หลังการต่อสู้เรียกร้องยืนยันสิทธิ์ถิ่นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเดิม ตั้งแต่ครั้งสมัยบรรพบุรุษ ของชาวบ้านกว่า 20 รายใน. ต.หัวตะพาน-ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช หลังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าแจ้งกรรมสิทธิ์การถือครอง พร้อมไล่ผู้ทำกินเดิมออก สุดท้ายชาวบ้านคนแก่ชรา พ่ายแพ้ ยอมจับฉลากรับที่ดิน 5 ไร่ ที่ มวล.จัดสรรให้ สร้างความชอกช้ำใจให้กับชาวบ้าน แถมแนวโน้มที่ใหม่เป็นที่ทับซ้อน มีเจ้าของอยู่แล้ว หวังที่พึ่งสุดท้าย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร
ที่หมู่ 5 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายประยุทธ วรรณพรหม นายกสมาคมเครือข่ายที่ดินแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานการแก้ปัญหาที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กว่า 30 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีการจับฉลากเพื่อเลือกแปลงที่ดินตามที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จัดสรรให้ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช หมายเลขคดี พ.248/2563 หมายเลขคดีแดง พ.1131/2546 ระหว่างนายอำเภอท่าศาลา โจทก์ที่ 1 และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับพวก กับนางแรม ขวัญแก้ว จำเลยที่ 1 กับพวก 35 คน ดังกล่าว ได้ให้จำเลยหรือบริวาร หรือผู้แทนมาจับฉลากเพื่อเลือกแปลงที่ดิน ตามที่ ส.ป.ก. จัดสรรที่ให้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2564 เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม จำนวนรายละ 5 ไร่ พร้อมเงินสด 250,000 บาท พร้อมเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. และสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เป็นต้น
เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่ผ่านมา ทาง ม.วลัยลักษณ์ ได้ทำหนังสือเชิญชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และเป็นคนที่ได้รับหมายจาก สนง.บังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ ม.วลัยลักษณ์ ภายในวันที่ 30 กรกฏาคม 2564 จำนวน 21 ราย ขึ้นจับฉลากพื้นที่ 5 ไร่ กับเงินอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางมหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. นายกันตพงษ์ ช้างนิล ปลัดอาวุโสอำเภอท่าศาลา รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมศรีธรรมราช
กิจกรรมการจับฉลากที่ดินได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น โดยชาวบ้านทั้ง 21 รายได้ลงรายนามพร้อมเลขตำแหน่งแปลงที่ดินที่จับได้ เพื่อไปยืนยันสิทธิ์อีกครั้งในแปลงที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสรรไว้ให้รายละ 5 ไร่
ข่าวน่าสนใจ:
- สจ.เปี๊ยกไม่ปลื้ม นายกไก่เปลี่ยนใจยอมสยบฉายแสง สุดท้ายกลายเป็นมาให้กำลังใจ
- สุราษฎร์ ฯ อ่วม ฝนตกหนักตลอดทั้งคืน จนท.เร่งช่วยเหลือประกาศภัยพิบัติเพิ่มเป็น 8 อำเภอ เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
- กรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สินลงพื้นที่จ.ตากดูบ้านมั่นคงเมืองแม่สอด
- ตรัง สถาบันพระบรมราชชนกเตรียมผลิต 9 หมอรุ่นใหม่ นวัตกรรมสุขภาพไทยสู่ระดับโลก
“นางปราณี สังวาลย์ อายุ 83 ปี กล่าวว่า ตนเองรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก ที่ไม่สามารถรักษาบ้านและที่ดินทำกินเดิม ซึ่งมีอยู่กว่า 18 ไร่ ไว้ได้ ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดิน นส.3ก. อยู่อาศัยมาครั้งสมัยรุ่นปู่ย่า ปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยนำดินมาถมทับที่ดินทำกินหมด เหลือเพียงตัวบ้านที่อยู่ปัจจุบัน หากไม่มาจับฉลากในวันนี้ ต่อไปหากถูกไล่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน 18 ไร่กับ 5 ไร่ที่มาจับฉลากในวันนี้ มันเทียบกันไม่ได้เลย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไม่สามารถไปต่อสู้อะไรกับเขาได้”
“ขณะที่คุณตาแมน ชื่นชม อายุ 82 ปี อยู่หมู่ที่ 1 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา ซึ่งเป็นชาวบ้านอีกรายที่ได้รับผลกระทบและเดินทางมาจับฉลากที่ดินด้วยในวันนี้ โดยคุณตาแมนได้กล่าวถึงความรู้สึกหลังจับฉลากแล้วเสร็จ ว่า แปลงที่ตนเองจับได้เลขที่ 43 ซอย 6 อยู่ ต.ไทยบุรี ซึ่งเป็นคนละตำบลกันกับที่ดินเดิม รู้สึกเสียอกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะที่ดินเดิมมีอยู่กว่า 14 ไร่ มันเทียบกันไม่ได้เลยกับที่ดิน 5 ไร่ แต่ตนเองก็แก่แล้วไม่สามารถทำอะไรเขาได้ ไม่รู้จะไปสู้รบกับเขาอย่างไร จึงจำเป็นที่จะต้องทำตาม ๆกันกับที่พวกเขาแนะนำไปพร้อมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ ดีกว่าไม่มีที่อยู่ที่ซุกหัวนอน จำเป็นที่จะต้องยอมรับไปโดยปริยาย”
“นางประจวบ ม่วงพาส อายุ 65 ปี อยู่ ต.หัวตะพาน กล่าวว่า ตนเองมีที่ดินอยู่ 42 ไร่ อยู่อาศัยทำกินตกทอดมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เป็นที่ นส.3ก.สามารถนำไปกู้ ธกส.ได้ ทุกแปลงมีผลอาสินหมด อาทิยางพารา มะพร้าว และพืชผลทางการเกษตร จู่ ๆ หลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาทำการก่อสร้างก็มาบอกว่า ที่ดินนี้เป็นของมหาวิทยาลัย กว่า 30 ปี ที่ตนเองรวมถึงชาวบ้านคนอื่นๆ ต้องทนทุกข์และเจ็บปวดเมื่อถูกไล่ที่ สำหรับแปลงที่ดินที่จับฉลากได้ในวันนี้ เลขที่ 74 ซอย 3 รวมถึงของแม่ของตนเองได้ แปลงเลขที่ 58 ซอย 6 โดยที่ดินที่จับฉลากได้อยู่ในพื้นที่ ต.ไทยบุรี ไม่รู้ว่าที่ดินนี้จะอยู่ในสภาพแบบไหน ต้องเข้าไปดูก่อน หากถามถึงความรู้สึกอยากจะอยู่ในที่ดินเดิมจนตัวตาย ไม่อยากไปไหน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาเอาไปเสียแล้ว รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก แต่ก็สุดความพยายามที่จะต่อสู้แล้ว” นางประจวบ กล่าวทั้งน้ำตา
นายประยุทธ วรรณพรหม นายกสมาคมเครือข่ายที่ดินแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานการแก้ปัญหาที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ถ้าคุณมาดูด้วยตา คุณจะเห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนนั้นเป็นผู้สูงอายุ ที่มีอายุกว่า 60 ปี แล้ว บางคนต้องถูกประคองมา รับที่ดิน ส.ป.ก. 5 ไร่ หากคุณย้อนกลับไปถามว่าในจำนวนผู้ที่เดือดร้อนว่า เดิมทีคนเหล่านี้มีพื้นที่อยู่กี่ไร่ ในพื้นที่ ต.หัวตะพาน และ ต.ไทยบุรี ผมยอมรับว่าน่าสงสารมาก ๆ บางคนมีที่กว่า 50 ไร่ 20 ไร่ 10 ไร่ ผมถามหากเป็น ม.วลัยลักษณ์ จะยอมหรือไม่ เอาที่เหล่านั้นมาแลกกัน ได้ที่ ส.ป.ก. 5 ไร่ เป็นป่ารกร้าง วันดีคืนดี ก็จะมีเจ้าของที่มาบอกว่า พวกเขาเหล่านี้บุกรุกที่ดั้งเดิมกันอีก”
ผมไม่เข้าใจว่า ม.วลัยลักษณ์จะเอาที่ไปทำไมมากมาย 9,000 ไร่ ที่ขอก็เท่ากับอำเภอเล็ก ๆ หนึ่งอำเภอไปแล้ว บุกรุกเกินไปกว่า 4,000 ไร่ เท่ากับกินที่ชาวบ้านไป ส่วนหนึ่งให้ออกไปแล้ว อยู่ที่ชุมชนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่ด้านหลัง ส่วนอีกแปลง ก็เป็นที่ ส.ป.ก. เข้าไปดูจะเห็นว่ามีประชาชนบ้าง คนนอกพื้นที่บ้าง ผู้นำท้องที่บ้าง หรือแม้แต่นักการเมืองบ้าง มาบุกรุกที่กันสนุกสนาน จากนั้นก็จะให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในแปลงเหล่านี้ เป็นที่ดินทับซ้อน ซึ่งชาวบ้านก็จะอ้างว่าอยู่มาก่อน ก็เกิดการทะเลาะวิวาทฆ่าฟันกันตาย ทุกคนทราบดี
หาก ม.วลัยลักษณ์จริงใจ น่าจะหาที่ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนานแล้ว แต่ยังคงเพิกเฉย จนเวลาล่วงเลยมากว่า 30 ปี พอชาวบ้านไม่ออกก็หาว่ามาทำกินในที่ของ ม.วลัยลักษณ์ ทำให้เกิดการพัฒนาไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไรรู้กัน ที่ว่างที่ ม.วลัยลักษณ์ ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน เอารถแมคโฮไปไถที่ชาวบ้าน เอาผู้มีอิทธิพลมาข่มขู่ชาวบ้าน เยอะแยะที่ชาวบ้านถูกกระทำ ล้วนมาจากฝีมือ ม.วลัยลักษณ์
ที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ ตนเองสรุปไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มวล.รับจะจัดหาที่ใหม่ให้ แต่ยังหาไม่ได้ชาวบ้านได้แต่รอ กลุ่มที่ 2 มวล. อ้าง ส.ป.ก. ปักป้ายรื้อถอนไล่ที่ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน กลุ่มที่ 3 มวล. รับจะจัดหาที่ใหม่ให้ภายใน 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ก.ค. 64 และทำการจับฉลากไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค.64 ที่ผ่านมา และสิ่งที่จะต้องทำต่อคือนำชาวบ้านที่จับฉลากทั้งหมดไปดูพื้นที่ ตรวจสอบรางวัดให้เรียบร้อย หากพบว่าเป็นที่ทับซ้อน ม.วลัยลักษณ์ก็เตรียมตัวให้ดีกับสิ่งที่กระทำกับชาวบ้าน
ขณะที่นางประไพ รอดสม อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ 9 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนเองมีที่ดินกว่า 50 ไร่ เป็นที่ สค.1 ของบรรพบุรุษดั้งเดิม ซึ่งได้ร่วมต่อสู้กับเพื่อน ๆ มากว่า 30 ปี หลัง ม.วลัยลักษณ์ มาไล่ให้ออกจากที่ตนเองอยู่ โดยบอกว่าที่ดินแปลงนี้เป็นที่ก่อสร้าง ม.วลัยลักษณ์ ที่ 9,000 ไร่ ใน ม.วลัยลักษณ์ มากมายก่อสร้างก็ไม่หมดชั่วลูกชั่วหลาน กับที่ของชาวบ้านที่เหลือยังจะเอาอีก มีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เสียสละ และออกไปอยู่ในชุมชน ม.วลัยลักษณ์แล้ว จะเอากันอีกหรือ
“หากว่าวันที่นัดไปดูที่ มีคนมาแสดงตนว่าที่ดินแปลงนี้มีเจ้าของ ป้าก็จะไม่ไปอยู่เด็ดขาด ไม่อยากแย่งกับใคร เข้าใจหัวอกเจ้าของที่ดิน ที่จะต้องมีคนบุกรุก หากตนเองไม่มีที่อยู่สิ่งสุดท้ายก็คงต้องขึ้นไปหาท่านธรรมนัส รมช.เกษตร ให้ช่วยเหลืออีกครั้ง”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: