เคาท์ดาวน์… เก้าอี้นั่งบริหาร เสาชิงช้า… 30 หมายเลขที่เข้าชิงถึงเส้นชัยทุกคน จากจุดสตาร์ท มาจนถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายใหม่ ที่กำลังจะกลายเป็นถนน…หนทางออกของคน กทม. ทางสายใหม่เส้นนี้ ไม่ได้มีไว้ให้กับใครหลาย ๆ คน
มีเพียง ‘หนึ่งเดียว’ ที่เป็นผู้พิชิตชัย แล้วใคร?… จะสามารถคว้าเก้าอี้ประจำตำแหน่งตัวนี้มาได้…
ศึกครั้งนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด… แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยากจนเกินไปกับ ‘คนที่ใช่!’ ซึ่งสามารถเข้าไปนั่งกลางใจคนส่วนใหญ่ใน กทม.ได้ 22 พ.ค.65 นี้ รู้ผล
‘เสาชิงช้า’ สัญญลักษณ์ของเมืองหลวง ‘กรุงเทพมหานคร’’ ยืนตระหง่านอยู่ใจกลางเมือง มี 50 เขตการปกครอง ในรูปแบบการปกครองพิเศษ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร ลักษณะของพื้นที่แบ่งเป็น 6 โซน ประกอบด้วย กรุงเทพกลาง กรุงเทพใต้ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 5.5 ล้านคน หรืออาจมีมากถึง 7 ล้านกว่าคน (เมื่อรวมกับประชากรแฝง) เมืองหลวงที่ศิวิไลซ์ ทำให้ผู้คนต่างหลงไหลพากันเข้ามา ยิ่งนำพาความยุ่งเหยิงให้เกิดขึ้น ซึ่งหากมองไปทางไหน ก็จะพบแต่ปัญหามากมายที่สะสมไว้ พี่น้องคน กทม.ต่างพากันส่งเสียงสะท้อนออกมาอยู่เนือง ๆ ดังบ้าง ไม่ดังบ้าง ไม่มีเสียงเลยก็มี เพราะทุกที่มีแต่ชนชั้นกับความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในสังคมปัญหาเหล่านั้น… เสมือนเชือกหลายเส้นที่ถูกกองรวมกันไว้นาน จนพันผูกเป็นปมใหญ่น้อย มีที่คลายได้บ้าง ปมที่แน่นจนแก้ยากก็อีกไม่น้อย สนามแล้วสนามเล่า ได้สอนให้คน กทม. สามารถล่วงรู้อะไรต่อมิอะไรได้มากขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
9 ปีเต็ม! กับการแช่แข็ง กทม. การเมืองถอยหลัง เศรษฐกิจฝืดเคือง ชีวิต-สังคมย่ำแย่ แม้แต่หมูยังแพง ราคาน้ำมันพุ่ง แต่ยาเสพติดกลับราคาถูกมีเกลื่อนกราด ผู้คนตกงาน ปัญหามากมายกลับไม่ได้รับการคลี่คลาย แถมซ้ำเติมด้วยโรคระบาด และแทบขาดอากาศหายใจด้วยฝุ่นพิษ นับวันปัญหายิ่งทวีคูณ
ศึกการเมือง กทม.ในครั้งนี้ ไม่ใช่สนามทดสอบ ไม่ใช่เวทีประลองวาทกรรม ไม่ใช่พื้นที่ประชันความสามารถ ของใคร ๆ
แต่มันเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนอีกหลายล้าน ให้ได้มีที่หยัดยืนอย่างมั่นคง เพื่ออนาคตและปากท้อง เพราะต้องวางเดิมพันด้วยชะตาชีวิตของตัวเอง
พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการแค่ผู้กล้า หรือเก่งมาจากไหน แต่เขาต้องการให้ได้มาซึ่งผู้เสียสละ และจริงใจอย่างแท้จริง เป็นนักคิด นักปฏิบัติ ผู้พัฒนา และโดยเฉพาะเป็นบุคคลที่มองเห็นถึงคุณค่าชีวิตของทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
ฉะนั้น ‘การเมือง’ จึงไม่ใช่ขนมหวานของใคร ๆ อีกต่อไป ที่อยากเมื่อไหร่ ก็ไปซื้อมากินกันได้ง่าย ๆ ต่อให้อยากแทบตาย ก็ไม่ง่ายที่จะคว้ามาเสียแล้ว
ศึกชิงชัยเสาชิงช้าครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนครั้งใหม่สำหรับผู้ลงสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหามากมาย ล้วนมาจากเสียงสะท้อนเหล่านั้น ซึ่งหากนำเขียนเป็นแนวตั้ง คงสูงเท่าตึก
53 วันที่คน กทม.ได้ครอบครองอำนาจไว้ในมือ ถือเป็นวันเวลาที่สำคัญยิ่ง เพราะได้เป็นผู้กำหนด แต่มันกำลังจะหมดไปในไม่ช้า อีกแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อจากนี้ สิทธิ์และเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ก็จะถูกแทนที่โดยมีผู้กำหนดใหม่ในทันที หลังหย่อนบัตรลงหีบ เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะมาชี้อนาคตใหม่ให้คน กทม.
>>ผู้สมัครหมายเลขใดที่จะสามารถชิงชัยในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนี้ได้ นั่นหมายถึงทางเดินสายใหม่ ที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ เลือกให้เข้ามาเป็นผู้กำหนดเข็มทิศ-เวลา จะให้เดินไปข้างหน้า เลือกหยุดอยู่กับที่ หรือเลือกที่จะเดินทวนเข็มนาฬิกา นั่นเท่ากับเป็นการชี้ชะตาให้กับทุกคนใน กทม. จะตรงใจกับสิ่งที่วาดหวังเอาไว้หรือไม่ ก็ต้องมาลุ้นกัน
การมีผู้สมัครลงชิงชัยจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ดีของคนส่วนใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงผู้มีสิทธิ์ได้มีตัวเลือกมากขึ้น แต่… ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ ในหมู่ผู้คนส่วนใหญ่นั้น กลับไม่ทราบถึงจำนวนแท้จริง ของผู้กล้าลงทำศึก ชิงชัยเสาชิงช้า ในครั้งนี้ ว่ามีทั้งหมดกี่คน
กว่า 50 วันที่ผ่านมา ไม่ว่าจะไปไถ่ถามใครต่อใคร ในพื้นที่ไหน ๆ ก็ไม่มีใครตอบจำนวนที่ถูกต้องได้ซักคน (มากสุดก็แค่ 5 คน) ทิ้งคำถามนี้ไว้ให้ขบคิดว่ามันสื่อถึงอะไร? แล้วทุกชีวิตใน กทม. จะเป็นเช่นไร?
คนกรุงเทพฯ ที่กำสิทธิ์ไว้ในมือ คือ ผู้ชี้ชะตา
22 พ.ค.นี้ รวมพลังพลิกหน้าการเมืองใหม่ ตัดสินใจให้บทเรียนกับคนนักการเมือง ถึงเวลาที่ต้องบอกกับตัวเองว่า การเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นการเมืองเรื่องของพวกเราทุกคน ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้าง ร่วมกันทำ ร่วมกันนำพาบ้านเมืองให้ก้าวเดินไปข้างหน้า มุ่งเข้าสู่ยุคพัฒนา ไม่ล้าสมัยและถอยหลังอย่างในอดีตอีกต่อไป
ท้ายที่สุด ขอส่งสารนี้ไปให้ถึงผู้กำชัย จงอย่าได้ลืมถ้อยคำหวาน ๆ ที่โปรยกันไว้ให้กับชาวกรุง กลับไปทบทวนท่องจำกันอีกครั้ง แล้วเริ่มลงมือทำให้ได้ในทันที
♦ กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: