นครศรีธรรมราช : ชาวบ้านเจ้าของที่ดินเดิมในรั้ว มวล.นับร้อยราย ฮึดสู้ ! อีกครั้ง หลังเรียกร้องความเป็นธรรมมากว่า 30 ปี เหตุที่ทางที่เคยมีกลับหมดสิทธิ์ครอบครอง แถมไม่เคยได้รับความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ‘จัดสรรพื้นที่ทับซ้อน’ เตรียมขึ้น กทม. ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก นายชวน หลีกภัย และสหประชาชาติ
วันที่ 18 มิถุนายน 2565 ความคืบหน้า กรณีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ขอพื้นที่จากกระทรวงมหาดไทยจำนวน 9,000 ไร่ เพื่อก่อสร้างอาคารเรียนบนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทุ่งบ่อนิง ทุ่งหาดทรายขาว ทุ่งคลองปุด และทุ่งบ้านไผ่ ต.หัวตะพาน และ ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลาจ.นครศรีธรรมราช แต่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับที่ประชาชนอยู่อาศัยและทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ กระทั่งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช มีคำสั่งศาลออกมา และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านคนละ 5 ไร่ แต่ยังมีราษฎรบางส่วนไม่มีที่ทำกิน เนื่องจากบางแปลงมีผู้อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินที่ได้รับการจัดสรรอยู่แล้ว จึงกลายเป็นปัญหาที่ดินทับซ้อน
ขณะเดียวกัน พื้นที่ก่อสร้างของ มวล.กลับขยายออกเป็น 14,000 ไร่ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เดิม ถูกฟ้องขับไล่ไม่มีที่อยู่อาศัยจนเวลาล่วงเลยมากว่า 30 ปีแล้วนั้น
https://youtu.be/egiiDaCPGhU
ล่าสุด ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมผ่านไปยัง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในพื้นที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงมาแก้ไขปัญหาพร้อมจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านรายละ 5 ไร่|อย่างเร่งด่วน เพื่อยุติปัญหา ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนพากันรวมตัวกันหาแนวทางการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 ที่ศาลาเอนกประสงค์ภายในวัดคลองดินหมู่ 1ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลาจ.นครศรีธรรมราช โดยมี นายประยุทธ์ วรรณพรหม นายกสมาคมเครือข่ายที่ดินแห่งประเทศไทย และสมาชิกเครือข่าย เข้าร่วมผลักดันช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อน
นายประยุทธ์ กล่าวว่า สถาบันการศึกษาดังกล่าวผิดเอง ในเมื่อเบื้องต้นที่ดินที่ขอไปนั้น 9,000 ไร่ แต่เอาเข้าจริงๆ กลับขยายพื้นที่ไปถึง 14,000 ไร่ เอาไปทำอะไรมากมาย การรุกที่เพิ่มทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพิ่ม ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ที่ดิน 5,000 ไร่ที่เคยเป็นของชาวบ้านกลับเข้าไปปลูกปาล์มยางพารา ผลไม้ต่างๆเป็นของตัวเอง
“สถาบันการศึกษาเป็นสถานที่เพื่อผลิตบัณฑิตให้เป็นคนดีมีคุณธรรมแต่กลับเป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างไม่ดีเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน”
วันนี้ เมื่อให้ชาวบ้านเขาออกจากพื้นที่ก็ต้องหาที่แปลงใหม่มาทดแทนให้ แต่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมากลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหา
การจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ก็ยังไปทับซ้อนที่ดินเดิมของชาวบ้านรายอื่น ถามว่าชาวบ้านเขาจะออกหรือไม่ สปก.จึงต้องฟ้องขับไล่ แล้วพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน เพราะทุกคนคือชาวบ้านที่อยู่ในแปลงกว่า 5,000 ไร่นั้น
“ทางแก้ที่ดีที่สุดคือทางสถาบันการศึกษาต้องคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน เมื่อ ครม.มีมติอนุมัติที่ดินแปลงนี้ให้สถาบันการศึกษา แล้วชาวบ้านเดือดร้อน ครม.ก็ต้องประชุมและมีมติคืนที่ดินให้ชาวบ้านได้เช่นกัน แต่ที่ผ่านมากว่า 30 ปีกลับไม่ทำอะไรเลย นักการเมืองเองก็ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา”
นายประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านทั้งหมดในฐานะสมาชิกของสมาคมฯ ได้ทำหนังสือคัดค้านขอให้ทบทวน กรณีกระทรวงมหาดไทยออกหนังสือสำคัญที่หลวงเกินจากที่ประกาศไว้เดิม และกรมที่ดินได้ออก นสล.ทับที่ราษฎรในตำบลหัวตะพาน ซึ่งในประกาศปี 2476 ไม่มีชื่อคนในตำบลหัวตะพาน เพราะประกาศเฉพาะตำบลไทยบุรี กระทั่ง ต่อมาประกาศมอบที่ดินให้มหาวิทยาลัย โดยที่ยังคงมีราษฏรทำกินในพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นอยู่
ทางสมาคมฯ จึงจำเป็นที่จะต้องให้กระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ทบทวนเรื่องเนื้อที่ 9,000 ไร่ ที่มหาวิทยาลัยใช้ 6,000 ไร่เพื่อเป็นสถานศึกษา ที่เหลือ 3,000 ไร่ ต้องมอบให้ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้คนที่อยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้ สมาคมฯจะสรุปผลและรวบรวมเอกสารทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันหลังจากประชุม เพื่อกำหนดวันเดินทางขึ้น กทม.พร้อมตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์การสหประชาชาติเพื่อให้เร่งเข้าช่วยเหลือ
ด้าน ว่าที่ ร.ต.วิรัตน์ รูปโอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวตะพาน กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้ ชาวบ้านจึงต้องมารวมตัวกันอีกครั้ง คิดว่าทุกภาคส่วนสมควรมาแก้ปัญหาร่วมกัน เวลา 30 ปี ครึ่งอายุคน ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที เท่าที่ทราบปัญหาที่พบมีอยู่ 3 ปัญหาคือ
1.ปัญหากรณีประกาศพื้นที่ นสล.ทับที่ชาวบ้านในเขตตำบลหัวตะพานประมาณเกือบ 3,000 ไร่
2.ปัญหาราษฎรที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ทุ่งบ้านไผ่ และทุ่งบ่อดินทุ่งคลองขุด และทุ่งหาดทรายขาว ที่ทำกินก่อนก่อสร้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
3.บุคคลที่เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก.
คุณป้าประไพ รอดสม หนึ่งในผู้ครอบครองที่ดินเดิม กล่าวว่า รู้สึกเสียใจและผิดหวังมาก ที่ทางมหาวิทยาลัยไม่เคยมีความจริงใจให้กับตนเอง รวมถึงชาวบ้านทุกคนที่เดือดร้อน คิดเอาเปรียบทุกอย่าง ที่ดิน 2 แปลงเป็นที่อยู่อาศัย 1 แปลง ที่สวนยางพาราอีก 1 แปลง รวมกว่า 20 ไร่ เคยเป็นที่ทำมาหากินมีผลอาสินต่างๆ ที่ปลูกไว้มากมายเงินที่เคยได้จากการกรีดยางกลับไม่ได้อีกเลย เพราะไม่สามารถเข้าไปกรีดได้ หลังทางมหาวิทยาลัยนำรั้วลวดหนามมากั้นไว้ทั้งหมดเป็น 20 ปีแล้ว โดนกลั่นแกล้งสารพัด ทั้งเอารถแบคโฮมาดันทำลายห้องน้ำที่บ้าน ทั้งฟ้องร้องไล่ที่ไม่ให้อยู่
“เราทุกคนต่างจำใจยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ดินที่เคยครอบครองเคยเป็นที่ทำมาหากิน เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งรุ่นปู่ย่า มารุ่นตนเองก็ทำกินมากว่า 60 ปีแล้ว กลับไม่เหลือแม้ตารางวาเดียว จำใจต้องรับเงื่อนไขที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้เพียง 5 ไร่ แต่ท้ายที่สุดที่ดินเหล่านั้นกลับมีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่ จึงต้องไปร้องต่อศาลเพื่อให้คุ้มครองเราให้เราได้มีที่ซุกหัวนอน”
มองว่า มวล.ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ใช้แต่อำนาจอิทธิพลเข้ามาขู่เข็ญข่มเหงและนำกฎหมายมาบีบบังคับใช้กับพวกเรา เพราะเห็นว่าเราขาดความรู้ไม่มีทางที่จะสู้ได้ วันนี้ หวังเพียงให้มีที่ซุกหัวนอน แต่หากเลือกได้ก็จะขออยู่ตรงนี้และตายบนผืนแผ่นดินที่บ้านที่ของบรรพบุรุษอยู่มา ยืนยันและยืนหยัดที่จะเดินหน้าต่อสู้ต่อไปเพื่อขอให้ได้รับความยุติธรรมขึ้นมาบ้างและต้องการให้เรื่องนี้กระจ่างแจ้งชัดเจน คุณป้าประไพ
ด้านคุณตาแมน ชื่นชม เจ้าของที่ดิน 14 ไร่ มีบ้านมีผลอาสินต่างๆ ในที่ดิน ซึ่งเคยเป็นที่ทำมาหากินกันมาหลายต่อหลายรุ่นนับร้อยปี มาวันนี้กลับไม่เหลือ บอกว่า แม้จะแก่แล้วและไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ แต่จะขอต่อสู่ไปจนวันตาย เพราเอยากให้ลูกหลานมีที่ซุกหัวนอน ตนเองก็ประสบปัญหาเดียวกันกับชาวบ้านคนอื่นๆในเรื่องที่ดินที่ทาง มวล.ได้จัดสรรมาให้ใหม่นั้น กลับเป็นที่ทับซ้อนมีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่แล้ว แต่แปลกตรงที่ว่าที่ดินที่ได้มากลับอยู่คนละที่ แปลงหนึ่ง 5 ไร่ อีกแปลงหนึ่ง 2 ไร่ และอีกแปลง 3 ไร่ ซึ่งอยู่คนละตำบลกัน“ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาช่วยเหลือพวกเราด้วย สำหรับตนเองไม่มีอะไรน่าห่วงแล้วห่วงแต่ลูกหลาน อย่างน้อยก่อนที่จะตายอยากจะให้ปัญหาที่ได้ต่อสู้มายาวนานกว่า 30 ปีได้จบยุติลง ขอแค่ที่ทางเพื่อให้กับลูกหลานจะได้มีที่ซุกหัวนอน ตนเองจะได้หมดห่วง” คุณตาแมนกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: