กรุงเทพฯ – อีกขั้นความสำเร็จในการพัฒนายกระดับคุณภาพงานด้านสาธารณสุข ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพ ตอบสนองด้านการเข้าถึงและรักษา ใน ‘SandboxModel’ เตรียมขยายให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงปัญหาและช่องว่างการบริการสาธารณสุข ของกรุงเทพมหานคร ที่ไม่เป็นระบบ ขาดการประสานงานและการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จนกลายเป็นภาระของประชาชนและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่ต้องแบกรับภาระเพิ่ม โดยที่หน่วยบริการพื้นฐาน (ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน) ไม่สามารถแบ่งเบาได้ จึงจำเป็นต้องออกแบบระบบและกลไกใหม่
‘ราชพิพัฒน์ Sandbox Model’ เกิดขึ้นจากการ ‘ถอดบทเรียน’ จากปัญหาเหล่านั้น เพื่อแก้ปัญหาและหาทางออก อุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ จนทำให้เกิดปัญหา เช่น คนล้นเตียงโรงพยาบาล การไม่ได้รับการประสานงานเมื่อเกิดการติดเชื้อ
ตามนโยบายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร ที่ต้องการทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของประชาชน
‘โรงพยาบาลราชพิพัฒน์’ เขตบางแค ได้พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักการอนามัย สำนักงานเขตในพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานพยาบาลเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 เขต (ทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน)
โครงการต่าง ๆ ประกอบด้วย
1.พัฒนา Excellent Center เวชศาสตร์เขตเมือง ควบคู่การดูแลคนเมือง โดยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับบริการทั่วถึงและเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น Service plan โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต
2.เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์ เพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยประคับประคอง เป็นแห่งแรกของ กทม. และสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน โดยเปิด Community IMC บ้านผู้สูงวัยฟรี ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพชุมชน จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ชุมชน เพื่อสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เปิดโครงการ Pre-school บ้านเด็กเล็กเพิ่มขึ้น และโครงการนักสืบฝุ่น ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ไว้ในชุมชนทั้ง 5 เขต ติดตามหาสาเหตุของฝุ่นเพื่อป้องกันแก้ไข เป็นต้น
3.เปิดศูนย์สนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง หรือศูนย์สนับสนุนบริการคนเมือง สร้างบริการให้ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง โดยใช้หลัก Hi-touch และ Hi-tech ประกอบด้วย ระบบเทคโนโลยี และระบบบริการขนส่งสาธารณสุข โครงการที่ใช้ระบบเทคโนโลยี ประกอบด้วย
1)Urban medicine support center ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพ 24 ชั่วโมง ผ่านระบบโทรศัพท์ VDO call center โดย Scan QR code ใน Facebook
2)Telemedicine ประชาชนสามารถปรึกษา รักษา กับแพทย์ผ่านระบบรักษาทางไกล และใช้ระบบส่งยาไปที่บ้าน หรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ในอนาคต
3)Telemedicine consult ระบบปรึกษาการรักษาระหว่างพยาบาลและแพทย์ที่คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล เหมือนทำให้คนไข้ได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ลดการส่งต่อ การที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น
4)Urban medicine home care ระบบเยี่ยมบ้านและฝากร่างกาย Online ติดตามอาการคนไข้ ถ้าผู้ป่วยพบปัญหาสามารถโทรปรึกษาได้ 24 ชั่วโมง
โดยใช้ระบบเทคโนโลยี ร่วมกับ ระบบบริการขนส่งสาธารณสุข ประกอบด้วย
1.รถ Telemedicine-Ambulance รับการประสานงานจากศูนย์เอราวัณ และเพิ่มช่องทางการติดต่อฉุกเฉินให้ประชาชน เพิ่มอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ถึงที่เกิดเหตุและบนรถฉุกเฉิน
2.รถ Motor lance หน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อประเมินปฐมพยาบาลและกู้ชีวิตรักษาทันทีที่เกิดเหตุ เข้าถึงชุมชนได้ง่ายรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะชุนชนที่รถฉุกเฉินเข้าถึงยากและการจราจรติดขัด
3.รถ Commu-lance เหมือนศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่และรถสามารถเข้าไปบริการผู้ป่วยถึงชุมชนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถจาะเลือด ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์และปรึกษาแพทย์ได้ด้วยระบบเทคโนโลยี ใช้ระบบส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.ในอนาคต รวมทั้งรับ-ส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ
การพัฒนา Sandbox ราชพิพัฒน์ Model จะส่งผลให้ระบบบริการปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ง่ายและทั่วถึงระดับเส้นเลือดฝอย ลดความเหลื่อมล้ำและรอยต่อ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยในการปฏิบัติงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เป็นประธานในพิธีเปิด ‘ราชพิพัฒน์ Sandbox Model’ เมื่อ 26 ส.ค.65 ที่ผ่านมา
“นี่ถือเป็นมิติใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขอย่างไม่น่าเชื่อ ระบบสาธารณสุขจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น แต่จะทำเพียงจุดเดียวไม่ได้ หัวใจของ Sandbox คือ ทำ scale ให้ได้ อนาคตจะต้องมีรถ Motor lance 300 คันทั่ว กทม. มีรถ Commu-lance 150 คัน เพื่อลงไปบริการชุมชนในทุกเขต ต้องมีศูนย์เด็กอ่อน 3 เดือน-2 ขวบ กระจายทุกชุมชน เพื่อให้พ่อแม่ที่มีลูกอ่อนฝากเลี้ยงลูกอ่อนได้ ก็จะสามารถคืนพ่อแม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน ซึ่งจะเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจขึ้นไปอีก”
นายชัชชาติ บอกด้วยว่า เรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ อย่างรถ telemedicine ที่สามารถให้รถไปถึงชุมชน ก็จะสามารถลดปัญหาความแออัดให้โรงพยาบาลได้ ประชาชนจะมีความสุขขึ้นเนื่องจากไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: