กรุงเทพฯ : ผู้ว่าชัชชาติ ชวนคนกรุงเทพฯ ‘เปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพย์สิน’ เดินหน้านำร่อง 3 เขต ปทุมวัน พญาไท และหนองแขมจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นด้วยการ ‘ไม่เทรวม’
วันที่ 4 กันยายน 2565 ที่ศูนย์อาหาร สวนลุมพินี เขตปทุมวัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาคีเครือข่าย และสำนักงานเขต ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ‘ไม่เทรวม’ โดยมี นางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม Miss Thailand Universe 2022 ร่วมกิจกรรม
นทยชัชชาติ ระบุว่า โครงการ ‘ไม่เทรวม’ เป็นโครงการรณรงค์แยก ‘ขยะเศษอาหาร’ ออกจาก ‘ขยะทั่วไป’ ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร เพื่อลดปัญหาขยะปลายทาง ผ่านการแยกขยะและลดการเกิดขยะต้นทาง
วันนี้ ยังมีการเปิดตัวรถขยะแบบใหม่ที่มีพื้นที่จัดเก็บเศษอาหาร 2 ประเภท ได้แก่ รถอัดท้ายที่ต่อเติมส่วนจัดเก็บขยะเศษอาหาร และรถขยะเปิดข้างเพื่อจัดเก็บขยะเศษอหาร เพื่อแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ช่วยลดปัญหาน้ำชะขยะ กลิ่นขยะระหว่างการเก็บรวบรวมและการกำจัด และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ซึ่งจะออกวิ่งรับขยะที่ไม่เทรวม ในพื้นที่นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม
โครงการไม่เทรวมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ เพื่อติดตามประเมินและปรับปรุงแก้ไข โดยระยะที่ 1 (ก.ย.-ต.ค. 65) ช่วงนำร่อง กำหนด 1 เขต 1 เส้นทาง จากนั้นระยะที่ 2 (พ.ย.ธ.ค. 2565) จะขยายเป็นเก็บทุกเส้นทางในระดับแขวง และระยะที่ 3 (ม.ค.- มี.ค.66) จะขยายทั่วทั้งพื้นที่ 3 เขตนำร่อง และ 3 ขยายผลเต็มพื้นที่เขต
การเก็บขยะแยกประเภท แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ใช้รถเก็บขนมูลฝอยแบบเปิดข้าง ขนาด 1.5 ตัน จำนวนเขตละ 1 คัน จัดเก็บขยะเศษอาหาร คนละเวลากับการเก็บขยะทั่วไปปกติ และดัดแปลงรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัดขนาด 5 ตัน ติดตั้งถังรองรับขยะเศษอาหารที่ท้ายรถเพิ่มเติม 1 ถัง พร้อมถังสำรองติดตั้งบริเวณคอรถอีก 2 ถัง สำหรับจัดเก็บขยะเศษอาหารพร้อมกับการเก็บขยะทั่วไป
ขยะเศษอาหารที่จัดเก็บได้นั้น สำนักงานเขตจะรวบรวมนำส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ อ่อนนุซ (Mechanical and Biological Waste Treatment : MBT) เพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า และในปี 2566 จะเริ่ม 3 เส้นทางนำร่องและระดับแขวงในพื้นที่อีก 47 เขตที่เหลือต่อไปด้วย
ส่วนที่เลือกมา 3 เขตนำร่อง คือ ปทุมวัน พญาไท หนองแขม มีทั้งพื้นที่กลางเมือง ใกล้เมือง และไกลเมือง มีรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งชุมชน ตลาดสด สำนักงาน คอนโดมิเนียม ซึ่งต้องไปทำแบบจำลองหาวิธีที่เหมาะสมต่อไป
นายชัชชาติ ยังเปิดเผยตัวเลขงบประมาณที่ต้องเสียไปเพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการขยะ เป็นหลักหมื่นล้านบาท จะลดลงได้อย่างไร จำเป็นต้องริเริ่มและรวมพลังร่วมกันทำ ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือประชาชนแยกขยะ กลางน้ำ คือ กทม.จัดเก็บขยะแบบแยกด้วย และปลายน้ำมีการจัดการขยะที่แยกมาอย่างเป็นระบบ พอมีการแยกขยะแล้ว ขยะจะมีคุณค่าขึ้นมาในทันที การแยกขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ก็จะสามารถนำมารีไซเคิลและใช้งานใหม่ได้สะดวกขึ้น ซึ่งขยะเหล่านั้นก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นเงินกลับมาได้
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมทำกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเอาหน้าขอให้ผ่านไปที พร้อมกันนี้ จะต้องสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าร่วมโครงการ และสร้างแรงกระตุ้นผ่านทาง Social Media และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการแยกขยะ และกำลังพิจารณาว่า ถ้ามีการแยกขยะอย่างจริงจัง อาจจะลดอัตราค่าเก็บขยะให้ หรือแยกขยะมา อาจจะมีปุ๋ยหมักให้ทุกเดือน หรือหากใครแยกขยะก็จะมีสติกเกอร์ติดหน้าบ้านว่า ‘บ้านหลังนี้ร่วมมือในการพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น’ ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวเงินหรือสิ่งของแต่เป็นความภาคภูมิใจว่าเราเป็นร่วมที่ทำให้เมืองดีขึ้น หลายประเทศก็ไม่ได้มี Incentive ให้ แต่ใช้วิธีถ้าคุณไม่แยก คุณต้องเสียเงินมากขึ้น เพราะตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย Polluter pays principle หรือ PPP ใครทำมลพิษเยอะก็ต้องจ่ายเงินเยอะ อนาคตเมื่อระบบเข้าเต็มที่อาจมีคนบางกลุ่มที่ไม่ยอมแยก คุณก็ต้องจ่ายค่าเก็บขยะแพงขึ้น สุดท้ายกทม.ก็ต้องไปออกแบบแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อกระตุ้นให้คนมาร่วมกับเราด้วย” นายชัชชาติ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: