X

วช. ช่วย กทม. รับมือฝุ่น PM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

กรุงเทพฯ – กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลัง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ทำแผนรับมือ PM2.5 ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม วาง 3 เรื่องหลักต้องดูแล เฝ้าระวังติดตาม ลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ และการป้องกันสุขภาพ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 กรุงเทพมหานคร จัดงานเสวนาวิชาการ ‘เตรียมพร้อม รับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม’ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่ง กทม. ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันจัดขึ้น ด้วยการนําเสนอแนวทางป้องกัน ด้วยการนำงานวิจัยและนวัตกรรม ที่สนับสนุนการดําเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ (ช่วงวิกฤต) และใช้สําหรับเป็นแผนเผชิญเหตุ รวมถึงมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 หากปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ด้วยการระดมความคิดเห็นทางวิชาการ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพฯ ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกําเนิด การกําจัดการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมร่วมกันเสนอแนวทางการป้องกันและการจัดการปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานเปิดงาน ว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่ปัญหา PM2.5 ไม่เกิดขึ้น แต่ปีนี้คาดว่าปัญหานี้อาจจะกลับมาอีก กทม.ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนปัจจุบัน สามารถทำให้พื้นที่การเผาเหลือเพียง 5,000 ไร่ จาก 100,000 ไร่ ปีนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าให้การเผาเป็นศูนย์ให้ได้ โดยร่วมหารือกับจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี และปทุมธานี ถ้าเป็นไปได้ ปีต่อไปจะทำให้การเผาน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน กทม.ได้ตั้งศูนย์สู้ฝุ่นโดยเฉพาะ อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ด้านนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า 1 ในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คือ ‘นักสืบฝุ่น’ ที่ต้องการจะรู้ว่า ฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพฯ มาจากไหนบ้าง ด้วยทราบว่ามีนักวิชาการทำแผนเรื่องนี้ไว้มาก จะได้นำประสบการณ์มา ร่วมกันจัดทำแผนของ กทม. ให้ครบถ้วนและดีที่สุด ทั้งนี้ กทม.จะใช้ค่ามาตรฐานฝุ่นใหม่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ เป็นมาตรการที่ทำทั้งปี

สำหรับแผนรับมือกับฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) การลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) เช่น แหล่งที่มาจากโรงงาน การจราจร ควันดำ การเผาในที่โล่ง และการป้องกันสุขภาพ (Protect)

เรื่องแรก คือ การเฝ้าระวังติดตาม (Monitor) ที่มาของนักสืบฝุ่น เพิ่มความรู้ครบถ้วนมากที่สุด การแจ้งเตือนผ่าน Traffy Fondue หากประชาชนเห็นรถยนต์ควันดำ สามารถส่งผ่านแอปพลิเคชันนี้ได้ เพิ่ม Sensor ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีแล้ว 557 จุด และตั้งเป้าให้ได้ ให้ครบ 1,000 จุด กทม.มีศูนย์เฝ้าระวังติดตาม ( War Room) หรือศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ ที่อาคาร 1 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง สามารถดูค่าฝุ่นผ่านแอปพลิเคชัน Air BKK ทิศทางลม การพยากรณ์คุณภาพอากาศ การเผาในที่โล่ง จาก Hot Spot แบบ Real Time เป็น Platform ที่สามารถดูได้ทั้ง กทม. และปริมณฑล ด้วยการสนับสนุนจาก GISDA และสามารถดูภาพผ่านกล้องของสำนักการจราจรและขนส่ง เป็นศูนย์รวมรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และประสานไปยังหน่วยงานอื่นได้ด้วย

เรื่องที่สอง การลดหรือกำจัดตั้งแต่ต้นตอ (Reduce) แบ่งเป็น การตรวจสถานประกอบการตามแผน เดือนละ 2 ครั้ง ตามสถานประกอบการที่มี 1,222 แห่ง ซึ่งมี 260 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะใช้ Boiler ที่สร้างฝุ่น PM2.5 ส่วนการควบคุมการเผาที่ ผู้ว่าฯ กทม.ตั้งเป้าให้เหลือศูนย์ให้ได้นั้น จุดใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 9 จุด ได้ขอความร่วมมือ และจะให้การสนับสนุนเชื้อเพลิงสำหรับรถที่นำน้ำไปใช้ในการหมักฝางข้าว การสนับสนุนจุลินทรีย์ย่อยสลาย หรือสนับสนุนการอัดฝางข้าว เป็นต้น

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ยังกล่าวถึงเรื่องควันดำ ว่า ได้ตรวจรถยนต์ควันดำ 14 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก/รถโดยสารประจำทาง 2 วัน/สัปดาห์ หากค่าฝุ่นใกล้สถานการณ์วิกฤต (สีส้มหรือสีแดง) จะตรวจถี่ขึ้น โดยจะตรวจรถยนต์ควันดำ 20 จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก 4 วัน/สัปดาห์ การคืนผิวจราจร รณรงค์ให้เอกชนทำงานที่บ้าน (Work from Home) การตรวจแพลนท์ปูนและไซต์ก่อสร้างที่เป็นต้นตอ 91 แห่ง เพิ่มระบบ Feeder จากบ้านไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดได้ เริ่ม 2 เส้นทาง ได้แก่ จากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปยัง BTS สนามเป้า และจากเคหะร่มเกล้า ลาดกระบัง ไปยัง Airport Rail Link ลาดกระบัง เป็นจุดที่ประชากรมีจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้โรงเรียนสังกัด กทม.437 แห่ง เช่น การปักธงเป็นสีตามค่าฝุ่นในวันนั้น สอนการให้อ่านค่าฝุ่น การปฏิบัติตัวอย่างไรหากค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน รวมไปถึงการเพิ่มห้องปลอดฝุ่นตามสถานที่ต่าง ๆ สำหรับศูนย์เด็กเล็กและผู้สูงอายุ การสอนทำ DIY เครื่องกรองฝุ่น เป็นต้น

เรื่องที่สาม การป้องกันดูแลสุขภาพของประชาชน กทม.ร่วมกับ Line จัดทำแอปพลิเคชัน Line Alert นอกจากแจ้งเตือนภัยพิบัติแล้ว ยังสามารถแจ้งเตือนเมื่อฝุ่นมีค่าสูงขึ้น การแจกหน้ากากอนามัย การตรวจสุขภาพในคลินิคโรงพยาบาลในสังกัด กทม. รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ล้านต้นเพื่อกรองฝุ่น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ