กรุงเทพฯ – กทม. ชี้แจง จัดระเบียบ ย้าย ‘หาบเร่-แผงลอย’ คืนทางเท้าย่านสีลมให้คนเดิน หลังได้รับร้องเรียนต่อเนื่อง อย่างประนีประนอน ยืนยัน ไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้ค้า
วันที่ 21 มกราคม 2566 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำแถลงชี้แจง การจัดระเบียบการค้าขายบนทางเท้า ย่านศาลาแดง ถนนสีลม เขตบางรัก หลังกลายเป็นประเด็นดราม่า แม่ค้าที่ถูกเทศกิจไล่ที่ ร้องไห้คร่ำครวญตัดพ้อ
โดยนายจักกพันธุ์ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.66 ได้ลงพื้นที่ถนนสีลม หลังจัดระเบียบแล้ว ตลอดถนนทั้งสาย มีผู้ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ลงขายบนทางเท้าเกินกำหนด จึงเข้าพบพร้อมหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เพื่อชี้แจงว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้ย้ายออกจากจุดนี้ แต่ผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมปฏิบัติตาม พร้อมทั้งเตรียมจะขายของต่อ จึงแจ้งว่าจำเป็นต้องยึดของกลางไปที่สำนักงานเขต เพื่อให้ผู้ค้าหยุดทำการค้าขายไปก่อน และไปพูดคุยทำความเข้าใจกันที่สำนักงานเขต
ขณะที่กำลังพูดคุยทำความเข้าใจและยึดของกลางอยู่นั้น ประชาชนเริ่มเข้ามารุมล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และด่าทอเจ้าหน้าที่ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ถอยออกมา เพื่อให้ไม่เกิดการกระทบกระทั่ง
โดยระหว่างถอยออกมา มีหญิงคนหนึ่งเดินมาประกบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ และตนเองเดินตามอยู่ด้านหลัง ต่อมา หญิงคนนั้นก็ล้มลงไปเองโดยที่ไม่มีใครแตะต้องตัวเลย หลังจากล้มลง ชายคนหนึ่งได้ชี้ไปที่หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ พร้อมกล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายเทศกิจทำร้ายประชาชน ตนเองจึงบอกเจ้าหน้าที่ว่า อย่าต่อล้อต่อเถียง ให้เดินหนีออกมา และแม้เดินข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่งแล้ว คนกลุ่มนี้ยังเดินตามมาด่าทอเจ้าหน้าที่ต่อ จึงขอยืนยันว่า ตามที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ออกไปว่า รองผู้ว่าฯ ทำร้ายประชาชนนั้น “ไม่เป็นความจริง”
ข่าวน่าสนใจ:
รองผู้ว่า กทม.ชี้แจงอีกว่า ก่อนหน้าที่เกิดเหตุการณ์ ได้พูดคุยกับผู้ค้ารายนี้ ทราบว่าฝ่ายเทศกิจเขตบางรัก เตรียมพื้นที่แห่งใหม่ไว้ให้ค้าขาย ในซอยศาลาแดง แต่ผู้ค้ารายนี้ไม่ยอมเข้าไปทำการค้าในพื้นที่ที่จัดให้
ด้านนางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางรัก ระบุว่า ที่ผ่านมา เขตได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ผ่านหลายช่องทาง รวมทั้ง Traffy fondue เรื่องการตั้งแผงค้ารุกล้ำทางเท้าบริเวณถนนสีลม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรทั้งทางเท้าและท้องถนน เขตได้เจรจาพูดคุยขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ค้า ให้ย้ายจุดทำการค้า โดยมีการออกประกาศสำนักงานเขต ห้ามตั้งวางจำหน่ายสินค้าหลายครั้ง จนล่าสุ มีผลวันที่ 17 ม.ค. 66 ระหว่างนั้นได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เจรจาขอความร่วมมือ และเชิญผู้ค้ามาร่วมประชุมชี้แจงต่อเนื่องหลายครั้ง ผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือย้ายจุดการค้าไปอยู่ที่ ถนนคอนแวนต์ ซอยศาลาแดง ตรงข้ามวัดแขก และตลาดพัฒน์พงษ์ มีเพียงบางรายที่ฝ่าฝืน และจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับรายที่ต่อต้าน อย่างไรก็ตาม เขตยังยืนยันที่จะใช้วิธีการเจรจาและระมัดระวังการกระทบกระทั่งกับผู้ค้า
ปัจจุบัน มีผู้ทำการค้าบนทางเท้าประมาณ 700 แห่ง ผู้ค้าประมาณ 20,000 ราย ที่ผ่านมา กทม.ได้หารือพูดคุย จัดระเบียบผู้ค้าที่อยู่บนทางเท้า เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจร ขณะเดียวกัน มีกฎหมายที่ให้ประชาชนหรือผู้ค้าที่มีความประสงค์จะทำการค้าขายต้องขออนุญาต
ส่วนนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบคลิปวิดีโอ ไม่พบภาพที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ กทม.ผลักหรือทำให้หญิงคนนั้นล้มลง และนโยบายของ กทม.จะไม่มีการใช้กำลัง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ :
‘ชัชชาติ’ แจง เหตุ ‘เทศกิจ vs แผงลอยสีลม’ จนท.ทำตามหน้าที่ ยัน กทม.ไม่ใช้ความรุนแรงกับ ปชช. (มีคลิป)
https://www.77kaoded.com/news/kitdanai/2394886?swcfpc=1
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: