กรุงเทพฯ – ค่าฝุ่น PM2.5 เมืองกรุง ถึงขั้นวิกฤติอีกรอบ ปลาย ม.ค.-ต้น ก.พ.66 กทม.ร่อนหนังสือ ขอความร่วมมือเอกชน Work From Home โดยวันที่ค่าฝุ่น เกิน 75 มคก./ลบ.ม. ต้องทำงานที่บ้าน 100% กรมควบคุมมลพิษ ชี้ ต้องรับมือไปจนถึง เม.ย.
วันที่ 25 มกราคม 2566 นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย, นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงถึงมาตรการรับมือฝุ่น PM2.5 สูง ในกรุงเทพมหานคร ช่วงวันที่ 26-27 ม.ค.66 เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งสถานการณ์จะกลับมาวิกฤติหนักอีกครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่แล้งช่วงฤดูหนาว
นายพรพรหม ระบุว่า กทม.ร่วมกับกรมอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหา PM2.5 โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า เพื่อแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบ พร้อมรับทราบปัญหาจากประชาชน ผ่านช่องทาง Traffy Fondue และแก้ปัญหาจากต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 เช่น ควันดำจากรถยนต์ การเผาชีวมวลจากการเกษตร การเผาในที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้ เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อรองรับ หากเกิดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน ซึ่งทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
ข่าวน่าสนใจ:
- ชัยภูมิ นทท.แห่สัมผัสทะเลหมอกน้ำค้างแข็งหลายพื้นที่แตะ 7 องศาคึกคัก!
- THACCA ร่วมกับ วธ. สนับสนุน 220 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซอฟต์พาวเวอร์ไทย
- เปิดสะพานข้ามแยกสระขวัญชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ จ.สระแก้ว ส่วนเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนเปิดใช้เส้นทางช่วงกลางคืน
- "ชวนน้องหนูมาดูโขน" 11 ม.ค. ฟรี เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568
“ขอประชาชนในกรุงเทพฯ รับมือกับสภาพอากาศที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งวันที่ 27 ม.ค.-1 ก.พ.นี้ ค่าฝุ่นจะเกินมาตรฐาน จะเป็นพื้นที่สีแดง เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ปีนี้ จะหนักและรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เพียงแต่จะไม่ได้มีช่วงระยะเวลาที่ติดต่อกันหลายวันเหมือนปีที่ผ่านมา”
สำหรับแนวทางการปฏิบัติ กรณีค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่ง กทม.จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์ และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ
ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซต์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้ฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น
ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น
ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานจากที่บ้าน Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง
ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานจากที่บ้าน Work From Home 100% เพราะจะวยลดมลพิษได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการ WFH วันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม.ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชน ซึ่งตอนนี้ มี 11 บริษัทที่สนใจ และจะเข้าร่วม กับ กทม. รวมถึงแจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง สำหรับโรงเรียน ขอให้ปิดหน้าต่างและงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัย ถ้าเป็นหน้ากากปกติจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า
ด้านนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ PM 2.5 อาจรุนแรงมากขึ้น โดยค่า PM2.5 จะสูงเกินมาตรฐานอีกครั้ง ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ทั่วกรุงเทพฯ และอีกครั้ง 1 ก.พ. อย่างไรก็ตาม PM2.5 จะอยู่ไปถึงเดือนเมษายน
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ช่วงวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.66 สถานการณ์มีโอกาสรุนแรง เหมือนวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ คือ แหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง ทุกคนสามารถร่วมช่วยกันควบคุมได้” นายพันศักดิ์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: