กรุงเทพฯ – รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เดินหน้าภาคีเครือข่ายแก้ปัญหาคนไร้บ้านครบวงจร เสริมระบบสวัสดิการ สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเพิ่มจำนวนคนจร-คนจน เน้นปัญหาด้านสุขภาพ ป่วยต้องได้รับการรักษา ย้ำ ขอความร่วมมือผู้ใจบุญแจกอาหารในจุดที่ กทม.กำหนด
วันที่ 27 มกราคม 2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) ณ บริเวณจุดแจกอาหารใต้สะพานพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร
นายศานนท์ เปิดเผยว่า กิจกรรมวันนี้ ได้รวบรวมเครือข่ายที่ทำเรื่องคนไร้บ้านหรือคนจนเมือง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิอิสระชน มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่าย มาร่วมกันแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ซึ่งคนไร้บ้านคือสิ่งที่สะท้อนถึงระบบสวัสดิการที่มีปัญหา การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่สามารถใช้วิธีเพียงแค่หาบ้านหรือจำกัดพื้นที่ได้ จึงต้องแก้ปัญหาที่ระบบสวัสดิการ หากป่วยหรือไม่มีสิทธิ์ในการรักษา หรือไม่มีบัตรประชาชน ต้องช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในเรื่องทะเบียนได้
ทั้งนี้ แนวโน้มของคนไร้บ้านหลังโควิด-19 จะมีมากขึ้น แม้บางคนมีบ้านแต่ก็ยังเป็นคนจนเมืองที่ยังไม่มีอาชีพ การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการช่วยให้พวกเขาหางานได้เร็วขึ้น และเริ่มพบว่าคนไร้บ้านหน้าใหม่มีจำนวนลดน้อยลงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ แสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นได้รวดเร็ว โดยเดือนที่ผ่านมา มีคนไร้บ้านสมัครงานมากกว่า 100 คน บางส่วนได้งานทำแล้ว จากข้อมูลพบว่า คนไร้บ้านริมถนนราชดำเนิน ปัจจุบันส่วนมากลักษณะไปเช้า-เย็นกลับ
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือผู้มีจิตใจเป็นกุศลที่ต้องการแจกอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งของให้คนไร้บ้าน แจกอาหารได้ตามจุดที่เขตพระนครกำหนดไว้ คือ
จุดที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า
จุดที่ 2 บริเวณซอยสาเก ถนนอัษฏางค์
เพราะจะไม่ได้ช่วยเพียงแค่เรื่องอาหารอย่างเดียว แต่สามารถช่วยเรื่องการคืนสวัสดิการให้คนไร้บ้านได้ด้วย โดยในด้านมิติสุขภาพ มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วยในเรื่องสิทธิ์การรักษา เพราะบางคนมีสิทธิ์อยู่ต่างจังหวัดสามารถโอนมารักษาได้เลย
ด้าน ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ช่วยให้บริการรับตรวจสอบสิทธิ์การรักษาและหน่วยบริการที่รับส่งต่อ ซึ่งคนไร้บ้านหลายคนกังวลเรื่องสุขภาพที่ไม่รู้ว่าจะไปรับการรักษาได้ที่ไหน สปสช.ไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีบัตรทองเท่านั้น สามารถช่วยเรื่องรักษาพยาบาลได้ด้วย เพราะคนไร้บ้านจำนวนมากยังไม่มีสวัสดิการและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อมีบัตรฯ แล้ว สิทธิ์ทุกอย่างจะตามตัวมา และเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วต้องไม่ถูกเรียกเก็บค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น
กทม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุด Drop in เพื่อให้บริการทุกวัน โดยเฉพาะทุกวันศุกร์จะมีบริการครบวงจร นอกจากนี้ ผู้ต้องการรับบริการสามารถโทรศัพท์ได้ที่สายด่วน สปสช.1330 โดยไม่ต้องมาที่จุด Drop in ก็สามารถทำได้ ลำดับต่อไป กทม.จะพัฒนาเรื่องบ้านอิ่มใจ โดยจะเลือกพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการช่วยเหลือคนไร้บ้าน ให้เป็นจุดที่ดูแลได้ครบวงจร ช่วยคัดกรองและแก้ปัญหาคนไร้บ้านที่มีปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้
สำหรับจุดประสานงานคนไร้บ้าน (จุด Drop in) ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการสวัสดิการที่ครบวงจรในทุกด้านแก่คนไร้บ้าน ทั้งการเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสวัสดิการสังคม สุขภาพ การมีงานทำ สุขอนามัย ฯลฯ โดยบูรณาการจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนให้บริการ อาทิ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร มูลนิธิต่าง ๆ ฯลฯ
การให้บริการ อาทิ การแนะนำให้คำปรึกษา ด้านสิทธิ์สวัสดิการ ที่พักชั่วคราว บ้านมิตรไมตรีและบ้านปันสุข สิทธิ์สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ์ที่พึงได้รับ แนะนำสิทธิ์สวัสดิการสำหรับผู้พิการ แนะนำการจดทะเบียนผู้พิการ บริการตัดผมฟรี การให้คำแนะนำด้านการย้ายสิทธิ์การรักษา บริการให้คำแนะนำกรณีผู้มีปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร และทำบัตรประจำตัวประชาชน บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้น บริการซัก-อบผ้า และห้องอาบน้ำ บริการจัดหางาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวเนื่องก่อนหน้าได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้ :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: