กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯ กทม. เชื่อ ถ้าทุกหน่วยงานทำงานเต็มที่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ในระยะยาวฝุ่นจะลดลงได้
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการประชุม คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนวาระแห่งชาติ คาดว่าในวันที่ 5 ก.พ.66 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะดีขึ้น เนื่องจากได้รับรายงานจาก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า ได้ทำฝนหลวงใน จ.ระยอง อาจจะส่งผลให้มีฝนตกในกรุงเทพมหานคร พื้นที่เขตลาดกระบัง ประเวศ และบางนา อาจจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นให้ดีขึ้น คาดการณ์ว่าฝนตกและความชื้นที่เพิ่มขึ้นจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของฝุ่นลงได้
ส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานอื่น ๆ
♦ กองทัพภาคที่ 1 ฉีดละอองน้ำตามจุดต่าง ๆ
♦ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ร่างระเบียบการออกรถยนต์ใหม่ โดยใช้มาตรฐานยูโร 5 ปล่อยไอเสียน้อยกว่าเดิม 10 เท่า
♦ กรมธุรกิจพลังงาน ปรับเปลี่ยนน้ำมันรองรับเครื่องยนต์ใหม่
♦ กรมสรรพสามิต คิดภาษีในการออกรถ เช่น รถที่ปล่อยมลพิษน้อยคิดภาษีน้อย รถที่ปล่อยมลพิษมากคิดภาษีมาก ในอนาคตอาจจะออกข้อบัญญัติเก็บภาษีกับรถที่ปล่อยมลพิษมากในรายปี
♦ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นการกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้การจราจรไม่ติดขัด จะช่วยลดฝุ่นได้
♦ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เน้นย้ำการลดฝุ่น โดยทำความสะอาดไซต์ก่อสร้าง คืนพื้นผิวการจราจรในเส้นทางการสร้างรถไฟฟ้าที่แล้วเสร็จ เพื่อลดปัญหาการจราจร
♦ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งทบทวนแผนแม่บทการย้ายท่าเรือคลองเตย ไปท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะช่วยลดจำนวนรถบรรทุกกว่า 2 ล้านเที่ยวต่อปี ในท่าเรือคลองเตย และจะส่งผลถึงการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้
♦ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีรถกว่า 2,000 คัน ยังใช้น้ำมันดีเซล ขอความร่วมมือเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า การฉีดพ่นน้ำลดฝุ่นละออง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงอยากให้ประชาชนกำจัดต้นตอฝุ่นให้ได้มากที่สุด เช่น Work from Home ที่ทำให้ปัญหาการจราจรลดน้อยลง ปริมาณฝุ่นก็จะน้อยลงตามไปด้วย ตอนนี้ฝุ่นไม่ได้หนักแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่หนักตั้งแต่ภาคกลางถึงภาคเหนือ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาชีวมวล จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการแก้ไขระยะยาว จะมีการปรับมาตรฐานรถให้มีคุณภาพดีขึ้น เพิ่มมาตรการดูแลแก้ไขปัญหารถเก่าที่ก่อมลพิษ ส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ เป็นแนวป้องกันฝุ่น การรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ อาทิ การเผาชีวมวล ในเขตปริมณฑล ส่วนการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้าน ต้องขอความร่วมมือผ่านเวทีอาเซียน
ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยทางเดินหายใจ จากสำนักอนามัย กทม. เพิ่มขึ้นวันละ 25 คน มีอาการระคายเคืองตา เกิดโรคผิวหนัง โรคทางเดินหายใจ เป็นต้น ฝุ่นในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากรถยนต์นั้น ทำให้เกิดฝุ่นในสภาวะอากาศเปิด 30 มคก./ลบ.ม. ถ้าสภาพอากาศปิดจะเพิ่มเป็น 60 มคก./ลบ.ม. ยิ่งมีการเผาชีวมวลก็จะเพิ่มปริมาณฝุ่นขึ้นอีก เป็น 90 มคก./ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ ได้พัฒนาศักยภาพการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีความแม่นยำมากขึ้น ทำให้กทม.สามารถเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK หรือผ่าน Line Alert เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกัน เช่น การ Work from Home
ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพิ่มเป็น 6 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง ตากสิน เจริญกรุงประชารักษ์ ราชพิพัฒน์ สิรินธร และโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: