กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯ กทม.ตรวจสภาพแพล้นท์ปูน 8 แห่ง ย่านพระราม 9 ติดตามมาตรฐานการป้องกันและควบคุมมลภาวะ พบฝุ่นเต็มพื้นที่ ถึงกับอุทาน “อย่างกับโรงปูน…” สั่งตั้งรถโมบายล์วัดค่าปริมาณฝุ่น และหาทางแก้ปัญหาระยะยาว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบแพล้นท์ปูน ถนนพระราม 9 ซอย 27 เขตห้วยขวาง ว่า จุดนี้ถือเป็นจุดใหญ่ มีแพล้นท์ปูนอยู่ถึง 8 แพล้นท์ในที่เดียวกัน จากก่อนนี้มี 9 แพล้นท์ สภาพพื้นที่มีปริมาณฝุ่นมาก ซึ่งเกิดจากการผลิต และรถที่วิ่งเข้า-ออกวัน ๆ หนึ่งเป็นร้อยรอบ จาก PM10 ก็อาจแตกตัวออกเป็นทุติยภูมิ เป็น PM2.5 ได้ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่า ฝุ่นอาจขยายออกไปยังภายนอกได้ นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังที่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ยังเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนในสังกัด กทม.อีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
โดยรวมพบว่า ภายในแพล้นท์ปูนทั้ง 8 แห่งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำฉีดพ่นป้องกันฝุ่นไม่ให้ออกไปนอกพื้นที่ มีบ่อน้ำล้างรถโม่ปูนที่วิ่งเข้า-ออก ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ยังมีฝุ่นปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ โดยเฉพาะพื้นผิวจราจร สังเกตได้จากรถที่จอดอยู่ริมถนน มีฝุ่นเกาะขาวไปทั่วทั้งคัน อีกทั้งไม่เคยมีการตรวจวัดค่าฝุ่น จึงไม่สามารถทราบได้ว่ามีปริมาณมากน้อยขนาดไหน และมีการร้องเรียนปัญหาจากชาวบ้านบ้างหรือไม่ หลังจากนี้ จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถโมบายล์เข้ามาตรวจวัดค่าฝุ่น เพื่อหาจุดที่สมดุลร่วมกัน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
ส่วนเหตุใดแพล้นท์ปูนเหล่านี้จึงมาตั้งอยู่ในเมือง นายชัชชาติ ให้เหตุผลว่า หากอยู่ภายนอกหมด จะต้องมีรถขนปูนขนาดใหญ่หลั่งไหลเข้าเมืองมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นมาก รถวิ่งไกลขึ้น และจะมีปัญหารถติดตามมา ทางที่เป็นไปได้และดีที่สุด คือให้แพล้นท์ปูนอยู่ในไซต์งาน ตัดปัญหาเรื่องการขนส่ง แต่ไซต์งานส่วนใหญ่มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการตั้งแพล้นท์ปูน จึงจำเป็นจะต้องมาอยู่รวมกันอย่างที่พระราม 9 แห่งนี้
สำหรับแพล้นท์ปูน 14 แห่ง ที่ถูกสั่งปิดไปก่อนหน้านี้ ยังไม่แน่ใจว่าถูกปิดไปด้วยเหตุผลใด แต่คาดว่าคงถูกสั่งปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า แพล้นท์ปูนย่านพระราม 9 นี้ ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ปัจจุบัน ตามรูปแบบผังเมือง ไม่สามารถตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้แล้ว ที่ผ่านมา น่าจะเป็นการถือใบอนุญาตเก่า ซึ่งหากครบกำหนดแล้ว ก็จะไม่ต่อใบอนุญาตต่อได้อีก
อ่านข่าวที่เกี่ยวเนื่องก่อนหน้าได้ที่ลิงกืด้านล่างนี้ :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: