กรุงเทพฯ – กกต.แจงทุกข้อสงสัย ปมบัตรเลือกตั้ง 66 บัตรแบ่งเขต ‘สีม่วง’ บัตรบัญชีรายชื่อ ‘สีเขียว’ ทุกอย่างเป็นไปตาม รธน.-กฎหมาย
วันที่ 28 เมษายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ลักษณะบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 จากประเด็นที่มีการสงสัยเกี่ยวกับลักษณะบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งไม่มีรายละเอียดนั้น
ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขอชี้แจงว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 นาฬิกา ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ
1. บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ‘บัตรสีม่วง’ มีเบอร์หมายเลขผู้สมัคร และช่องทำเครื่องหมาย
2. บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ‘บัตรสีเขียว’ ประกอบด้วย หมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง และช่องทำเครื่องหมาย
คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดรูปแบบบัตรเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ตามมาตรา 84 เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งว่า บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีช่องทำเครื่องหมายและหมายเลขไม่น้อยกว่าจำนวนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ และบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อต้องมีช่องทำเครื่องหมาย และหมายเลขของบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และชื่อพรรคการเมือง พร้อมภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองครบทุกพรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
ดังนั้น ในกรณีจัดทำบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
กกต. ชี้แจงกรณีรหัสเขตเลือกตั้งบนซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร
ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่อง รหัสเขตเลือกตั้งที่กรอกบนซองใส่บัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า ในการส่งจดหมายโดยปกติ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะมีรหัสไปรษณีย์เพื่อสะดวกในการคัดแยกในการนำส่งจดหมายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีถึง 928 อำเภอ หรือมากกว่า 7,000 ตำบล และมีจุดส่งไปรษณีย์อำเภอหลายพันแห่ง แต่กรณีเขตเลือกตั้งนั้น มีทั้งสิ้น 400 เขต (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง) จึงมีจุดส่ง 400 แห่ง และจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ดังนั้น จึงมีความแตกต่างกันจากการส่งจดหมายปกติทั่วไป ทั้งนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะเป็นผู้กำหนดรหัสเขตเลือกตั้ง เพื่อใช้ในการคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งเพื่อการจัดส่งต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: