กรุงเทพฯ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินหน้าพัฒนากรมราชทัณฑ์ ยกระดับกระบวนการยุติธรรม เน้นใช้หลักนิติธรรม เตรียมหารือศาลฎีกา แยกแยะนักโทษเด็ดขาด-นักโทษรอการตัดสิน แก้ปัญหานักโทษล้นคุก
วันที่ 25 กันยายน 2566 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบนโยบายและแนวทางการทำงาน แก่ผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้อำนวยการทัณฑสถาน โดยมี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ
ข่าวน่าสนใจ:
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า รัฐบาลได้ประกาศให้ความสำคัญที่จะยกระดับหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้น ที่จะคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ไม่ใช่ให้คนใช้ปากเป็นใหญ่กว่ากฎหมาย กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคดีอาญา จะต้องเป็นด่านอันดับหนึ่ง ที่ต้องพิสูจน์การใช้หลักนิติธรรม ในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด หลังจากนี้ไป รัฐบาลจะเข้ามายกระดับกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม เพื่อพัฒนาการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ต่อไป
ขอให้กรมราชทัณฑ์ยกระดับกระบวนการยุติธรรม ตามหลักอาชญาวิทยา เน้นหลักการทำงาน 3 ประการ คือ 1.ยึดหลักทำงานประจำให้ดี 2.ทำให้บรรลุเจตนารมณ์ของกฎหมาย และ 3.พัฒนางานให้ประชาชนเชื่อมั่น อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ต้องแสดงให้สังคมเห็น ถึงการคุ้มครองผู้ต้องขัง เพื่อให้ได้รับการยอมรับภายหลังพ้นโทษ และสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างแท้จริง
“รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ปล่อยให้กรมราชทัณฑ์อยู่ตามยถากรรม ต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วง กฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ที่ทุกฉบับระบุไว้ว่า หากบุคคลที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเป็นผู้กระทำผิดมิได้ นักโทษกว่า 6 หมื่นคน ที่กรมราทัณฑ์ต้องแบกรับภาระ แต่กลับไม่มีการดูแลเรื่องการจัดการต่าง ๆ ทั้งสถานที่ ปัญหานักโทษล้นคุก ตนเองพร้อมจะนำปัญหาเรื่องเหลานี้ กลับไปหารือกับศาลฎีกา เพื่อแยกแยะระหว่าง นักโทษเด็ดขาดกับนักโทษที่อยู่ระหว่างรอตัดสิน ต้องให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า เราจะมาร่วมกันยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยยึดหลักตาม พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่ได้รับการยอมรับ และยึดหลักสหประชาชาติ เป็นสากล และมีความยืดหยุ่น จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการควบคุมผู้ต้องขังมิให้หลบหนี ไม่ให้ก่อเหตุร้าย ไม่ใช่การทรมาน ต้องมีสัดส่วนการลงโทษตามกระบวนการอย่างถูกต้อง หากทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อาจเป็นการซ้ำเติมผู้กระทำผิดได้ ช่วงเวลาต่อจากนี้ไป สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความยุติธรรม ที่จับต้องได้
กรมราชทัณฑ์ต้องแสดงให้สังคมเห็นถึงการคุ้มครองผู้ต้องขัง เพื่อให้ได้รับการยอมรับภายหลังพ้นโทษ และสามารถคืนคนดีสู่สังคมได้อย่างแท้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: