เพชรบุรี – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดอบรมหลักสูตร การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ เพื่อเตรียมตัวและวางแผนก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติงานข่าวอย่างปลอดภัย ช่วยเหลือผู้อื่นได้ และไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการ ระบุว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสื่อมวลชน ที่ต้องเข้าพื้นที่รายงานข่าว ในสถานการณ์การชุมนุม ที่มีบริบทความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่จะได้รับความสูญเสียทั้ง ร่างกายและทรัพย์สิน
อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน มีสาธารณภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังมีข่าวปลอม (Fake News) สื่อมวลชนจำเป็นต้องมีส่วนร่วม ในการตรวจสอบและจัดการข่าวปลอม รวมถึงสกัดกั้นวาทกรรมที่เพิ่มความขัดแย้งให้สังคม ด้วยวิธีการนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพ ภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณ
ขณะที่วงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีสื่อใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ขณะที่สื่อดั้งเดิม ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องปรับตัวสู่ออนไลน์ ในรูปแบบการหลอมรวมสื่อ ดังนั้น การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในสนามข่าว จำเป็นจะต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ถึงการปฏิบัติตัวในเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างถูกวิธี ส่วนสื่อมวลชนในสนาม ก็ต้องสามารถปฏิบัติตัว ให้อยู่ในภาวะที่ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่าง ๆ ได้
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ จึงจัดการอบรมโครงการ ‘การอบรมเชิงปฏิบัติการ จริยธรรมการสื่อสารในภาวะวิกฤต และสาธารณภัยในยุคดิจิทัล’ ขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนที่ผ่านการอบรม สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ และเพื่อให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากสื่อทุกแขนง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ได้เพิ่มทักษะเรียนรู้เรื่องการทำข่าวในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การรายงานข่าวอย่างรอบด้าน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่เพิ่มความขัดแย้ง โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพเข้าร่วมอบรม จำนวน 30 คน ระหว่างวันที่ 12-15 ต.ค.66 ที่มอนโทโร รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี
ด้านนายสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าทีมวิทยากรอบรม เปิดเผยว่า การอบรม Safety Training สำหรับนักข่าว เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 ซึ่งมีนักข่าวบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน จึงจัดให้มีหลักสูตรอบรม ด้านความปลอดภัยในการทำข่าวความขัดแย้ง เริ่มตั้งแต่ ปี 2553 และจัดต่อเนื่องทุกปี จนถึงปัจจุบัน เป็นรุ่นที่ 12 แล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
ต่อมา ยังพัฒนาหลักสูตรการทำข่าวภัยพิบัติ โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้นักข่าวสามารถลงพื้นที่ทำข่าวได้อย่างปลอดภัย รายงานได้รอบด้าน มีองค์ความรู้ในการรายงาน เพื่อช่วยเตือนภัยและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงช่วยให้สังคมได้เห็นประเด็นความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในภัยพิบัติได้มากขึ้น
การฝึกอบรม ระยะเวลา 4 วัน 3 คืน มีทั้งทฤษฎีเบื้องต้น และการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริงในสถานการณ์จำลอง เช่น การบริหารความเสี่ยง, ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว, การเรียนรู้และการปฏิบัติตัว เมื่อเข้าทำข่าวในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง ทั้งการใช้ความรุนแรงและโรคระบาด พัฒนาทักษะในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารด้วยเครื่องมือต่าง ๆ
รวมถึงการช่วยชีวิตผู้ประสบ การทำ CPR การทำแผล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างถูกวิธี การเอาตัวรอดในสถานกาณ์คับขัน เช่น เกิดการปะทะกัน ระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ หรือ คู่ขัดแย้ง โดยมีองค์กรต่าง ๆ มาให้ความรู้ เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทีมกู้ชีพทางน้ำใจถึงใจ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: