กรุงเทพฯ : พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้มมาตรการตรวจน้ำหนักรถบรรทุก ตัดปัญหาเก็บส่วย เรียกคนขับเข้าให้ปากคำ พร้อมสืบหาความจริง มีการจ่ายส่วยหรือไม่ ยัน ใครเอี่ยวดำเนินคดีแน่นอน
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายศักดิ์มงคล (บอย) ทาสะโก คนขับรถบรรทุก คันเกิดเหตุ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สน.พระโขนง เพื่อให้ปากคำกรณีที่ขับรถบรรทุกดินตกบ่อร้อยสายไฟฟ้า บนถนนสุขุมวิท 64/1 โดยนายบอยปฏิเสธไม่ตอบคำถามใดๆ หลังถูกจี้ถามถึงน้ำหนักของดินที่บรรทุกมาบนรถว่าเกินหรือไม่ และได้มีการชั่งน้ำหนักก่อนออกมาไหม ซึ่งตอบเพียงว่า ได้ชั่งก่อนออกมา และพยายามรีบเดินหลบกลุ่มผู้สื่อข่าวออกไป ก่อนตะโกนบอกกับสื่อมวลชนว่า ไม่ให้สัมภาษณ์ใด ๆ อีกแล้ว และรีบเดินขึ้นบนชั้นที่ 2 ของ สน.ไปทันที
ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางมาร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามคดีที่เกี่ยวกับส่วยรถบรรทุก และร่วมสอบปากคำนายบอย โดยจะทำให้เป็นคดีตัวอย่าง ว่า ถ้ารถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะต้องถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง ตัวรถก็จะถูกศาลยึดไว้ ไม่สามารถเอาไปใช้ประกอบอาชีพได้ และจะต้องตรวจสอบไปถึงตัวเจ้าของรถว่าเป็นใคร รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ ในการบรรทุกน้ำหนักเกิน หากมีการรู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ซึ่งตามกฎหมาย รถลักษณะเดียวกันกับคันที่เกิดเหตุ ต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน แต่กรณีที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่าบรรทุกเกิน จนทำให้ถนนทรุดตัวลง
ข่าวน่าสนใจ:
ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการมาตักดินออก และนำกลับไปเทที่ไซต์งาน โดยที่ยังไม่ได้ชั่งนั้น ก็ต้องดูว่า รู้อยู่แล้วหรือไม่ว่าบรรทุกเกิน แล้วรู้เห็นเป็นใจให้มาตักออก หากรู้ก็มีความผิด ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย
และนอกจากสำนวนคดีนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนทันทีคือการแก้ไขปัญหา ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน กับวิ่งนอกเหนือจากเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตนเองได้สั่งการให้มีการตรวจสอบทั้งหมด เริ่มทันทีตั้งแต่วันนี้ ทุกเขตทั่วกรุงเทพมหานคร รถบรรทุกที่จะวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องผ่านการชั่งน้ำหนัก และรถบรรทุกที่วิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครเอง ก็จะต้องถูกชั่งน้ำหนักทันทีที่ขับออกจากไซต์งานก่อสร้างด้วย ปัญหาคือโรงพักในพื้นที่นครบาล ไม่ได้มีตาชั่งเหมือนกับโรงพักต่างจังหวัด จึงได้ประสานกับกรมทางหลวง ให้นำตาชั่งออกมาช่วยดำเนินการร่วมกันกับตำรวจ โดยจะต้องวางแผนการทำงานร่วมกัน และจะเชิญผู้ประกอบการทั้งหมดมาพูดคุยว่าการบรรทุกน้ำหนักต้องไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
ส่วนประเด็นเรื่องส่วยสติกเกอร์เฉพาะกิจ ตามที่มีการออกมาเปิดเผยกันนั้น ก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีจริงหรือไม่ หากพบใครที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่ได้พูดคุยรายละเอียดกับผู้กำกับการ สน.พระโขนง แต่ตนเองได้ตรวจสอบสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในกรุงเทพมหานครย้อนหลังไป พบว่าไม่มีการจับกุมเลย จับเพียงแค่สิ่งของตกหล่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่สร้างผลกระทบกับประชาชนมากกว่าคือการบรรทุกน้ำหนักเกิน ตนเองจะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า สาเหตุใด ที่ทำให้ไม่มีสถิติการจับกุมเลย รอง ผบ.ตร.กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: