กรุงเทพฯ : นายกรัฐมนตรี ห่วงปัญหาฝุ่น PM 2.5 สั่งแก้ปัญหา แบบควิกวิน ย้ำ จะทำทุกทางเพื่อให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูง พร้อมเพิ่มมาตรการทางกฎหมาย กับผู้เผา
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความร้อนใจต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี จนถึงช่วงต้นปี 2567 เป็นอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูง และเป็นปีสุดท้ายที่ประชาชนจะเจอปัญหาฝุ่น ก่อนหน้านี้นายกฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และหารือกับภาคประชาสังคม รวมทั้งขอความร่วมมือ งดการเผาพืชผลการเกษตร และเน้นย้ำ เรื่องการลงโทษสำหรับการสร้างมลพิษ
กว่า 3 เดือน ที่รัฐบาลได้พยายามวางแผนรับมือสถานการณ์ฝุ่น ในระยะสั้น กลาง ยาว ให้ครบถ้วนที่สุด ทั้งเพิ่มมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ที่ก่อมลพิษ การเชิญชวนให้เปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า และรถที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 โดยสิ่งเหล่านี้จะสร้างความตระหนักให้กับภาคสังคม ภาคเกษตรกร เอกชน ร่วมกันแก้ปัญหาให้ยั่งยืน
นายจักรพล กล่าวอีกว่า นายกฯ ยังได้คุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้น เกิดจากสาเหตุการเผาอ้อยเพื่อเตรียมหน้าดินในพื้นที่ปริมณฑล และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติโดยพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด จะพยายามขับเคลื่อนการออกกฏหมายร่าง พ.ร.บ.กฎหมายสะอาด เข้าสภาฯ ทั้งนี้วันที่ 14 ธ.ค.นี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกฯ จะลงพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ผลักดันต้นแบบจากการเผา เป็นนวัตกรรมการเกษตรอย่างอื่นแทน โดยรัฐบาลมีมาตรการที่จะให้เงินทุนอุดหนุนกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ใช้วิธีการอื่นแทนการเผา
สำหรับมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาสถานการณ์ในกรุงเทพฯ แม้จะเพิ่งเริ่มทำงานมาเพียง 3 เดือน แต่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินมาตรการ เช่น การจับกุมผู้เผา และกำชับให้ทางเกษตรจังหวัด ทำงานร่วมกับนายอำเภอในต่างจังหวัด จะต้องเข้าไปดูแลเฝ้าระวังไม่ให้เผาอย่างเข้มข้น ส่วนตามไซต์งานก่อสร้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีการหารือกับทางผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะให้มีการหยุดการทำงานหรือไม่
ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการขอความร่วมมือให้พนักงานเวิร์คฟรอมโฮม ในภาคเอกชนนั้น ไม่ว่ามาตรการใดที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จ ก็จะนำมาถอดบทเรียน
นับจากนี้ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะร่วมกันผลักดันการแก้ปัญด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน ทำให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาแม้จะประกาศเป็นวาระแห่งชาติแต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างยั่งยืน ปัญหาฝุ่นมีมานานแต่ที่ผ่านมา เหมือนจะหย่อนยานเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย นายจักรพล กล่าวว่า
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: