กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพชรเกษมกรุงเทพฯ เตรียมตบเท้าเข้าพบกรรมาธิการสาธารณสุข แจงเหตุ ศูนย์เอราวัณ สั่งระงับ ห้ามรับผู้ป่วย – ผู้บาดเจ็บ พื้นที่ กทม. ถามหาเหตุผล ห่วงประชาชนเสียโอกาส
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่ นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกำกับดูแลศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) ส่งหนังสือถึงมูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ สั่งห้ามไม่ให้มูลนิธิเพชรเกษมฯ ออกรับผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเจ้าหน้าที่และจิตอาสา ที่ตั้งใจช่วยเหลือประชาชน แต่กลับถูกกีดกัน ที่สำคัญ คือ ความเป็นความตายของมนุษย์ ที่เพียงเสี้ยววินาทีก็มีโอกาสทั้งรอดและสูญสิ้น หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ‘ใครจะรับผิดชอบ’ ถ้ามัวแต่ต้อง ‘รอคอย’ แล้วต้องแลกกับชีวิต ที่ประเมินค่าไม่ได้
หลังได้รับหนังสือดังกล่าว คณะผู้บริหารของมูลนิธิ นำโดย นายสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี ประธานมูลนิธิเพชรเกษมฯ ได้ประชุมหารือเพื่อหาทางออก ก่อนรวมตัวกันกว่า 100 คน ไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบ กรณีการสั่งระงับห้ามมูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ รับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
ล่าสุด ในวันนี้ (1 ก.พ.67 ) ประธานมูลนิธิเพชรเกษมฯ จะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ในเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า เพราะเหตุใดจึงสั่งห้าม มูลนิธิเพชรเกษมฯ ออกรับผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายสหชาติ ประธานมูลนิธิเพชรเกษมฯ เปิดเผยว่า มูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในองค์กรสาธารณกุศล มีความเพียบพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งบุคคลากรและอุปกรณ์ในการช่วยชีวิต รวมถึงรถพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ไม่น้อยไปกว่ามูลนิธิอื่น ๆ บุคลากรต่างผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรของ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มาแล้วทั้งสิ้น และมีการร้องขอความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก มีสถิติการออกรับผู้ป่วยมากกว่า 300 เคสต่อเดือน
ที่ผ่านมา ได้พยายามทำเรื่องขอขึ้นทะเบียน ให้เป็นหน่วยงานเครือข่ายบริการฉุกเฉิน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หลายครั้ง แต่กลับถูกศูนย์เอราวัณ ปฏิเสธมาตลอด อ้างว่า ปัจจุบันมีหน่วยบริการรถฉุกเฉิน ที่จะนำส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในเขตพื้นที่เพียงพอแล้ว แต่สวนตัวมองว่า หากเพียงพอแล้ว มูลนิธิจะมีสถิติในการออกรับผู้ป่วยมากกว่า 300 เคสได้อย่างไร สะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบัน สิ่งที่ศูนย์เอราวัณกล่าวอ้างมานั้นไม่เป็นความจริง รถพยาบาลในระบบของ กทม. มีไม่เพียงพอสำหรับบริการประชาชนได้อย่างทันท่วงที
“รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเสียประโยชน์ และโอกาส ในการเข้าถึงการช่วยเหลือ เพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ อย่างทันท่วงที อีกทั้งในการออกรับ-ส่งผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บ ทางมูลนิธิไม่มีการคิดค่าบริการแต่อย่างใด การที่ศูนย์เอราวัณสั่งระงับห้ามออกปฏิบัติหน้าที่นั้น มองว่า สร้างความไม่เป็นธรรม ที่สำคัญผู้ที่สูญเสียโอกาสการเข้าถึงการช่วยเหลือ คือ ประชาชน”
ประธานมูลนิธิเพชรเกษมฯ ยังยกตัวอย่างผลงานของทางมูลนิธิ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 มีหญิงป่วยรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุ ได้โทรศัพท์ร้องขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์เอราวัณ เพื่อขอรถพยาบาลให้ช่วยรับไปรักษาที่โรงพยาบาล เหตุเกิดภายในซอย 20 มิถุนา แยก 5 ถนนสุทธิสารวินิจฉัย แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดตอบรับ รถกู้ภัยของมูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ รับทราบเหตุการณ์ จึงเข้าตรวจสอบในทันที แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปได้ เนื่องจากคำสั่งที่ต้องรอรถในระบบของศูนย์เอราวัณ อย่างเดียว
กระทั่ง เวลาผ่านไปนาน ญาติรู้สึกเป็นกังวลใจ เกรงว่าอาการของผู้ป่วยจะแย่ลงกว่าเดิม จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามกับทางศูนย์เอราวัณอีกครั้ง ว่ารถพยาบาลจะเดินทางมารับผู้ป่วยได้เมื่อไหร่ ปลายสายจากศูนย์เอราวัณ กลับตอบมาว่า “เนื่องจากในขณะนี้รถในระบบมีไม่เพียงพอ ขอให้ญาติและผู้ป่วยรอไปก่อน” ตลอดการสนทนา ญาติของผู้ป่วยได้บันทึกคลิปเสียงเอาไว้ทั้งหมด
สุดท้ายแล้ว ผู้ป่วยต้องรอรถพยาบาลที่อยู่ในระบบมารับนานถึง 2 ชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่รถพยาบาลของมูลนิธิเพชรเกษม กรุงเทพฯ จอดรออยู่แล้ว แต่กลับไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ ทั้งที่เรามีความพร้อม ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที เพียงเพราะไม่อยู่ในระบบ “หากผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นญาติพี่น้องของเรา จะรู้สึกอย่างไร มันบีบหัวใจอาสาสมัครอย่างพวกเราจริง ๆ พวกเราเป็นประชาชนที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน เรามาเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนและสังคม ทำไมต้องห้ามเราทำความดี” นายสหชาติ กล่าวทิ้งท้าย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: