กรุงเทพฯ : DSI ออกหนังสือ 2 ฉบับ แจงละเอียด ยืนยันการส่งสำนวนสืบสวน กรณีการร้องขอให้โอนคดีฟอกเงิน BNK Master ของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน เป็นคดีพิเศษ ให้ ป.ป.ช. พิจารณา เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครวิ่งได้ พร้อมตัดพ้อ กระแสข่าว ทำ ปชช.เข้าใจองค์กรผิด
วันที่ 7 เมษายน 2567 ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ชี้แจงเรื่องการส่งคำร้องให้โอนคดีฟอกเงินเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ซึ่งเป็นคดีอาญาสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ที่ 391/2566 มาดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งได้ชี้แจงเหตุผลตามกฎหมายโดยละเอียดแล้วนั้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รายการ ‘SONDHITALK : ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง Ep.236’ โดยเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการกล่าวพาดพิงกรมสอบสวนคดีพิเศษถึงสาเหตุในการส่งสำนวนการสืบสวนดังกล่าวไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ในทำนองว่า เป็นกลไกเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว ให้ยืดเวลาในการถูกดำเนินคดี เนื่องจากหากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะเริ่มการสอบสวนใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนาน และกล่าวหาว่า คดีในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถ ‘วิ่ง’ ได้ รวมทั้งมีการนำเสนอข่าวของบางสำนักข่าวว่า หมดทางที่ผู้เกี่ยวข้องในคดีอาญาของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูนดังกล่าว ที่จะให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ข่าวน่าสนใจ:
กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงออกหนังสือชี้แจงหลักกฎหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายอีกครั้ง ว่า คดีใดจะเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ใช่เป็นไปตามความรู้สึก หรือความต้องการส่วนบุคคล และกรณีที่เป็นคดีพิเศษแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องรับโอนสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 22 วรรคท้าย โดยจะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ตามข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในคดีพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2547 ข้อ 6 เพื่อทราบว่า มีการดำเนินการสิ่งใดไปแล้ว และเพื่อให้เกิดการประสานงานระหว่างกัน รวมทั้งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอาจร้องขอให้พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยเหลือในการสืบสวนหรือการสอบสวนต่อไปได้ ตามข้อ 7 แห่งข้อบังคับคณะกรรมการคดีพิเศษดังกล่าว มิใช่ต้องเริ่มกระบวนการสืบสวนสอบสวนใหม่ทั้งหมด
นอกจากนี้การกล่าวหาว่า คดีในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถ ‘วิ่ง’ ได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่า การดำเนินคดีอาญาของกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีความโปร่งใส ซึ่งตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาเป็นที่ประจักษ์ สามารถปกป้องและรักษาผลประโยชน์ให้กับรัฐเป็นจำนวนหลายแสนล้านบาท แม้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ประชาชนสามารถวิจารณ์ติชมการปฏิบัติงานได้ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และให้เกียรติหน่วยงาน และบุคลากร ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากบุคคลใดมีข้อเท็จจริงพยานหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรายใดกระทำความผิดทางวินัยหรือทางอาญา สามารถยื่นเรื่องร้องเรียน เป็นหนังสือลับ ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้โดยตรง ในส่วนการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถกระทำได้ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: