กรุงเทพฯ – พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ร้อง ก.พ.ค.ตร. และ ก.ตร. อุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการโดยมิชอบ แฉขบวนการ 4 ต. สยบปีกพระพรหม รวมหัวเด้ง ขู่ฟ้องกราวรูดทั้ง สตช. ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
วันที่ 25 เมษายน 2567 พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กรณี พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ลงนามในคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการไว้ก่อนโดยมิชอบ
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า วันนี้ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน 2 ส่วน คือ ก.พ.ค.ตร. และ ก.ตร. เพื่ออุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งให้ออกจากราชการ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนาม
พร้อมนำแผนผัง ‘ขบวนการ 4×100 สยบปีกพระพรหม’ ที่ระบุว่า เป็นกลุ่มที่เสพติดอำนาจประพฤติชั่ว ที่มีการทำเป็นขบวนการ ประกอบด้วย 4 ชุด คือ
♦ ชุดตรวจค้นบ้าน ตระกูล 4 ต. (ต่อ เต่า ตุ้ม ไตร)
♦ พนักงานสอบสวนชุดทำคดี สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ
♦ พนักงานสอบสวนชุดทำคดี สถานีตำรวจนครบาลเตาปูน
♦ และชุดรักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ข่าวน่าสนใจ:
ที่ร่วมกันทำเป็นขบวนการ ตั้งแต่การเข้าตรวจค้นบ้าน การใช้อำนาจสอบสวน นำไปสู่การออกหมายเรียก หมายจับ จากนั้น รรท.ผบ.ตร.ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 18 เมษายน และนำส่งสำนวนให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทันที ในวันรุ่งขึ้น (19 เมษายน)
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ชี้ว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ สร้างเรื่องเกี่ยวกับเว็บพนัน และเข้าแจ้งความ ในคดีเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยให้พนักงานสอบสวนรับคดี ตั้งแต่ ปี 2558 ดำเนินคดีผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง 8 คน และแจ้งข้อกล่าวหา 1 ใน 8 คน
ขณะดียวกัน ยังใช้กลไกศาลดำเนินการกับตนเอง และส่งสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. โดยคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ มีพลตำรวจเอกธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ส่วนสำนวนคดีพนัน บีเอ็นเค มาสเตอร์ (BNK Master) มีพลตำรวจโทธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน
ขอย้ำว่า ทั้งสองสำนวน ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน และที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือทักท้วงไปยัง ผบช.น. และ รรท.ผบ.ตร.แล้ว แต่ไม่มีการตอบรับ กระทั่ง ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อ 2 ธ.ค.2566 นำไปสู่การมีคำสั่งให้ ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎกมายทั้งหมด
เพราะถูกกล่าวหาตั้งแต่ 2ธ.ค.2566 ขณะนั้น พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หากตนเองทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการจริง ก็ต้องให้ออกตั้งแต่ขณะนั้นแล้ว
ต่อมา ยังถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 20 มี.ค.
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ยังอ้าง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 ที่ระบุว่า ‘กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องใช้ กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 2547 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว ได้ขัดแย้งกันในข้อกฎหมายตามที่กล่าวไป จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้น จะส่งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา’
แต่พบว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกัน จึงต้องยกเลิกคำสั่งให้ออก จากราชการนี้ไปโดยปริยาย เพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ
นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ยังระบุว่า ระหว่างการสอบสวน จะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน แล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาค หรือ ผบ.ตร. ว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า กรณีของตนเอง มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ ดังนั้น จึงไม่มีข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการสอบสวน ที่มีพลตำรวจเอกสราวุฒิ การพาณิชย์ รอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไป ตามดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา
“การกระทำดังกล่าวของ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องติดคุก ที่ผ่านมา มีตำรวจกว่า 500 นาย ที่ถูกดำเนินคดี แต่ไม่มีใครถูกสั่งให้ออกจากราชการเหมือนกับผม”
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ เปิดเผยอีกว่า จากการสอบถามกับ ผอ.กองวินัยแจ้งว่า มีการประมวลเรื่องดังกล่าวไว้ 2 วัน ก่อนจะมีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ คือ มีการร่างคำสั่งเตรียมไว้ ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. และลงนามในวันที่ 18 เม.ย. แสดงให้เห็นว่า มีขบวนการให้ตนเองออกจากราชการ
หลังจากนี้ จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตั้งแต่รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการกฎหมาย กมค., ผู้บังคับการกองคดี, ผู้บังคับการสารนิเทศ 5, เลขานุกาลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยี ที่มาปลดป้ายตนเอง และปลดออกจากทำเนียบผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการ
ขณะที่ พลตำรวจเอกรอย อิงคไพโรจน์ ไปทำงานที่สภาความมั่นคงแห่งชานิ (สมช.) มาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่มีการปลดป้าย ถือเป็นการทำให้ตนเองเสื่อมเสีย ถ้าจะให้เมตตา ก็ต้องมาบอกว่าใครเป็นผู้สั่งการ
“การให้รอง ผบ.ตร.ออกจากราชการนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่นี่มีความรีบ รีบเพราะมีคนกระเหี้ยนกระหือรือ อยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำเรื่องรอไว้ แล้วก็ไปหลอกนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็ไม่ทราบจึงมีคำสั่งให้ส่งกลับไปที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนจะถูกสั่งให้ออกจากราชการ เติมรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่ผู้ขัดแย้งของผม แต่มาทำแบบนี้ถือว่า ท่านเลือกเอง”
ส่วนที่หนึ่งใน ก.ค.พ.ตร. คือ พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นคู่ขัดแย้งด้วยนั้น ก็จะต้องรู้ตัวเองและขอให้ถอนตัว แต่ถ้าไม่ดำเนินการ ก็จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไป
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ย้ำว่า ขณะนี้ตนเองยังไม่ใข่ผู้ต้องหา แต่เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ตราบใดก็ตามที่ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูลความผิด ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และยังมีคุณสมบัติที่จะเป็น ผบ.ตร.ได้ทุกอย่าง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: