X

สะเทือน! ผู้รับเหมาร้องนายกฯ เร่งสอบ ผอ.เทคนิคธัญบุรี ปมเรียกรับ กลิ่นโชยวิ่งเต้นกลับ

กรุงเทพฯ : เครือข่ายอาชีวะร้อนใจยื่นหนังสือนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งเคลียร์การบริหารงานของอาชีวะให้เกิดธรรมาภิบาลโดยเร็ว หลังผู้รับเหมาร้อง ป.ป.ช. และนายกรัฐมนตรี กรณีเลขาอาชีวะสั่ง ผอ.เทคนิค กลับเข้ารับราชการ ทั้งที่ศาลอาญาทุจริตรับฟ้องแล้ว

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นางประภัสสร ม่วงทิพย์ ผู้รับเหมาปรับปรุงอาคารโรงอาหารของวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐาน เป็นคลิปวิดีโอการจับกุม คลิปเสียง เข้ายื่นถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน โดยนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้รับเรื่อง เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบวินัยกับผู้สนับสนุนให้ นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี หลังกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ทั้งที่หลังศาลได้รับฟ้องทางคดีไปแล้ว

จากกรณีที่นางประภัสสร ม่วงทิพย์ ได้นำหนังสือเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.และนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอความเป็นธรรม กรณีร้องเรียนการทุจริต การปฎิบัติหน้าที่ของนายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ที่ผ่านมา ซึ่งคดีเกิดตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันทางอัยการคดีปราบปรามทุจริตภาค 1 สั่งฟ้องต่อศาลอาญาปราบปรามทุจริตภาค 1 ศาลได้รับฟ้องตกเป็นจำเลยไปเรียบร้อย เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 67 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สั่งให้กลับเข้ารับราชการ โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และคำสั่งให้พักราชการที่ นายธนุ วงษ์จินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สั่งพักราชการไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย

นางประภัสสร เปิดเผยว่า ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ในกรณีการดำเนินการทางวินัยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ได้ออกคำสั่งให้นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ กลับเข้ารับราชการ ซึ่งรายงานจากกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ได้สรุปว่าไม่มีความผิด อ้างว่าเงินสินบนที่ ป.ป.ท.และตำรวจเข้าจับกุมนั้น เป็นเงินบริจาค ซึ่งทาง ป.ป.ท.เอง ได้มีหนังสือสอบถามเข้ามาหลายครั้ง แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไม่ตอบ ตนเองได้คัดค้านและยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการสอบสวน โดยให้ตรวจสอบคำสั่งที่ นายยศพล สั่งให้นายเพชรโยธิน ราษฏร์เจริญ กลับเข้ารับราชการ ที่วิทยาลัยการอาชีพพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยยกเลิกคำสั่งเก่าที่ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ของว่าที่ร้อยตรีธนุ หรือไม่ ทั้งที่ตามกฎ ก.ค.ศ. หรือกฎระเบียบข้าราชการครูเขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อข้าราชการโดนสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือถูกกล่าวหา ถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้บังคับบัญชาจะต้องลงโทษสั่งพักราชการหรือให้ออกไว้ก่อน

ซึ่งมูลเหตุเดิมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้สั่งพักราชการไว้ก่อนตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ 584/2566 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ให้พักราชการ นายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี ขณะนั้น เพราะเหตุที่พนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี มีความเห็นสั่งฟ้องจนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดฐานเรียกรับสินบน เพื่อแลกกับการตรวจรับงานจ้างและสั่งอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้าง ตามที่ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และตำรวจลงพื้นที่จับกุมพร้อมเงินสดได้ที่ห้องทำงานตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

และต่อมาเมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามทุจริต 1 ภาค 1 ได้ยื่นฟ้องนายเพชรโยธิน ราษฎร์เจริญ ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน และเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 149 และ 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับฟ้องไว้แล้ว จึงเป็นที่สงสัยว่าเหตุใด นายยศพล เวณุโกเศศ ไม่ออกคำสั่งให้ผู้ที่ตกเป็นจำเลย พักราชการหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด หรืออาชีวะมีระเบียบไว้เป็นอย่างอื่น ก่อนหน้านี้ นางปภัสสร ม่วงทิพย์ ได้คัดค้านผลการสอบสวนของกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่สรุปว่าเงินที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท., ตำรวจ เข้าจับกุมนั้นเป็นเงินบริจาค ไม่ใช่เป็นเงินเรียกรับสินบนจากตนเอง ซึ่งทาง อ.ก.ค.ศ.อาชีวศึกษาและ ก.ค.ศ.ได้พิจารณาและลงมติว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา ถือเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยให้ลงโทษแค่ว่ากล่าวตักเตือน จึงยิ่งทำให้สงสัยในกระบวนการสอบสวน ว่ามีการวิ่งเต้นช่วยเหลือกัน การดำเนินการโปร่งใสหรือไม่อย่างไร

“ยืนยันว่าเป็นการเรียกรับสินบน ตนเองไม่ได้บริจาคเงิน เหตุใดกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงของทางอาชีวะ จึงสรุปรายงานการสอบสวนออกมาเช่นนั้น การสอบสวนไม่ได้ดูสำนวนการจับกุม หรือเชิญเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท., ตำรวจที่จับกุมมาให้ข้อมูลแม้แต่คนเดียว เอาแต่พวกพ้องของตัวเองมา การรับฟังพยานหลักฐานไม่คลอบคลุมรอบด้าน ไม่แน่ใจว่ากรรมการสอบสวนวินัย ได้ไปเอาหลักฐานมาจากไหน จึงสรุปรายงานการสอบสวนออกมาว่าไม่ผิด แค่ให้ตักเตือน หลักฐานทุกอย่างชัด หรือว่ามีเหตุผลอื่นใดกันแน่”

นางประภัสสร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองในฐานะผู้ร้องเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจอะไร ที่จะมาต่อสู้กับผู้ที่มีตำแหน่ง มีอำนาจรัฐอยู่ในมือได้ นอกจากร้องขอความเป็นธรรมจากองค์กรอิสระ และจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป จึงต้องมาร้องต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคุรุสภา เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวให้เกิดความยุติธรรมต่อตนเอง ทั้งได้ยื่นร้องสำนักงานคุรุสภา เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและผู้บริหารด้วย ตนเองต้องการรักษาไว้ซึ่งหลักธรรมาภิบาลขององค์กร คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือว่าเป็นกระทรวงที่สำคัญยิ่งต่ออนาคตประเทศชาติ เป็นแม่พิมพ์ในการสอนเด็กและเยาวชน ให้มีความรู้มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นสำคัญ

ด้านนายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษา (ค.ร.อ.ท.) กล่าวว่า ตนเองได้ติดตามการสอบสวนและการดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้น แต่ชักไม่แน่ใจว่าทาง กรรมการสอบสวนวินัย กรรมการ อ.ก.ค.ศ. กรรมการ ก.ค.ศ. หรือเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับทราบหนังสือฉบับนี้หรือไม่ คดีนี้สร้างความสั่นสะเทือน กระทบความเชื่อมั่นต่อระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทำให้หลาย ๆ คนมองดูว่า การบริหารจัดการงานบุคคล งานวินัย งานคดีความต่าง ๆ ในหน่วยงานแห่งนี้มีความเป็นมาตรฐานขนาดไหน
ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสหรือไม่ เหตุใดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎของ กคศ.ที่ว่าเมื่อข้าราชการถูกฟ้องในคดีอาญาในฐานความผิด ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่แล้ว ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งพักหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ส่งผลให้ภาพลักษณ์องค์กรฟังพินาศ

ดังนั้น ในฐานะประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ซึ่งเป็นภาคประชาชน จะติดตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคุรุสภา ในการตรวจสอบว่าการดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการสอบสวนวินัย ,อ.ก.ค.ศ. และ ก.ค.ศ. รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ได้ดำเนินการด้วยความสุจริต โปร่งใส มีความเป็นธรรม ชอบด้วยระเบียบกฎหมายหรือไม่ เพราะคดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศที่คอยติดตามว่าผลของคดีจะจบลงอย่างไร หากยังไม่มีความคืบหน้าก็จะยื่นเรื่องต่อองค์กรอิสระหรือสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตรวจสอบต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ