กรุงเทพฯ : ไทยภักดี-ทางเลือกใหม่-ไทยธรรม ตบเท้าเข้ายื่นหนังสือ กกต.เร่งตรวจสอบ ‘พรรคประชาชน’ ชี้ ไม่สามารถเป็นพรรคการเมืองได้ ด้วย 3 ปม ชื่อพรรค จำนวนสาขาพรรค และรับเงินบริจาค เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายทศพล พรหมเกตุ เลขาธิการพรรคไทยภักดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารพรรค เป็นตัวแทน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดตั้งสาขา ‘พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล’ จากระบบฐานข้อมูลพรรคการเมืองย้อนหลังกลับไปปี 2560 ว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีจำนวนสาขาครบทั้ง 4 ภาคหรือไม่ การตั้งชื่อพรรค รวมถึงให้ตรวจสอบการเปิดรับเงินบริจาคเข้าพรรคประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร
นายทศพล กล่าวเรียกร้อง ให้ กกต.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็น คือ
ข่าวน่าสนใจ:
- กองเชียร์นายกก้อยคึก แม้ไม่มีคู่แข่งดีกรีพอทาบบารมีได้ ในสนามชิงนายก อบจ.แปดริ้ว
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- นครพนมคึกคัก! เปิดศึกเลือกตั้ง อบจ. วันแรก “ศุภพานี-ประสงค์” ชิงชัย พร้อมนโยบายพัฒนาท้องถิ่น
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
1.จากการตรวจสอบข้อมูลของ กกต. ณ ปัจจุบัน พบว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียง 3 สาขา คือ ภาคกลาง 2 สาขา และภาคเหนือ 1 สาขา ซึ่งอาจสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 91 (3) ที่บัญญัติว่า พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง เมื่อภายหลังจากที่ดำเนินการครบตามมาตรา 33 (2) มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละ 1 สาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี
จึงขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองของ กกต.ตรวจสอบฐานข้อมูลย้อนหลังว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบัน มีจำนวนสาขาในแต่ละปีเท่าไหร่ในแต่ละภาค ซึ่งถ้าย้อนกลับไปปี 2560 นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ หากมีสาขาไม่ครบ 4 ภาคเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะดำเนินการมีคำสั่งให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ
2.ได้รับข้อมูลว่า วันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล จัดประชุมใหญ่ โดยมีมติเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พรรคประชาชน’ ตราสัญลักษณ์พรรค และเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อีกทั้งเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินให้พรรค ได้เงินจำนวนมาก ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการรับบริจาคของพรรคการเมือง ต้องเป็นไปตามข้อ 42 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2563 ที่ให้อำนาจหัวหน้าพรรคและเหรัญญิกพรรค เป็นผู้เปิดบัญชีธนาคารพาณิชย์ โดยมีหลักฐานสำคัญประกอบการเปิดบัญชี คือ
หนังสือรับรองรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคจาก กกต. โดยวงเล็บว่า เพื่อการบริจาค ซึ่งการรับรองจาก กกต.มีระยะเวลาในการดำเนินการ ไม่ใช่ว่าประชุมวันนี้แล้วมีหนังสือรับรองไปเลย จึงเรียนถามนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า กกต.ได้ให้การรับรองชื่อพรรค ตราสัญลักษณ์พรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แก่พรรคประชาชนแล้วหรือไม่ ถ้ายัง ก็ให้ กกต.ตรวจสอบการรับบริจาคเงินดังกล่าวจากประชาชนว่า เป็นไปตามข้อ 42 หรือไม่ และที่สำคัญ อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิดหรือไม่ ซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา
ขณะที่ นายราเชน ตระกูลเวียง หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ ได้ยื่นหนังสือให้ กกต.ตรวจสอบพรรคประชาชน ในกรณีเดียวกัน โดยระบุว่า ตนเองไม่ใช่นักร้อง แต่มาตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า ในฐานะพรรคการเมือง มีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
พรรคประชาชนมีหลายประเด็นที่ไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะการนำคำว่า ‘ประชาชน’ มาตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองนั้น ได้ยื่นเรื่องให้ กกต.แล้วหรือไม่ และกกต.อนุญาตแล้วหรือยัง จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ การเปลี่ยนชื่อพรรค เปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค เปลี่ยนโลโก้พรรค นโยบาย บัญชีธนาคาร ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่กระบวนการที่ผ่านมา เร็วเกินไป วันที่ 7 ส.ค.พรรคก้าวไกลถูกยุบ วันที่ 9 ส.ค.มีชื่อพรรคประชาชนโผล่ขึ้นมา ทุกอย่างมีการเตรียมการ ซึ่ง กกต.จะต้องเร่งตรวจสอบ
นอกจากนี้ ยังมี นายอโณทัย ดวงดารา หัวหน้าพรรคไทยธรรม พร้อมคณะผู้บริหารพรรค และนายอนุวัตร ยาวุฒิ ในฐานะภาคประชาชน ผู้ซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธธรรมนูญ พ.ศ.2560 เดินทางมายื่นเรื่องให้ กกต.เร่งตรวจสอบการเปลี่ยนชื่อพรรคประชาชน จากพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเดิม เช่นกัน
โดยอ้าง ‘พรรคประชาชน’ ถูกยุบไป เมื่อปี 2544 ด้วยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 34/2544 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2544
ซึ่งชื่อพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้ว มิอาจนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อพรรคใหม่ได้อีก ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน) มาตรา 94 จึงขอเรียกร้องให้ กกต.ตรวจสอบตามข้อมูลดังกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: