X

กทม.เตรียมรับมวลน้ำไหลเข้ากรุง อีก 1 สัปดาห์น้ำมาถึง เตรียมพร้อม 24 ชม. มั่นใจ ไม่เหมือนปี 54

กรุงเทพฯ – ‘ผู้ว่าฯชัชชาติ’ เตรียมรับภัยน้ำท่วม พาสื่อลงเรือสำรวจระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา วางมาตรการป้องกันให้ชาวกรุง ปิดจุดสี่ง เสริมแนวเขื่อนกว่า 60 จุด เตรียมสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง เพื่อเปิดทางน้ำไหล สั่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง มั่นใจ รับมือได้ ไม่เหมือน ปี 2554 

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อม รับมือสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝน ของกรุงเทพมหานคร พร้อมนำสื่อมวลชนลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ

โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ร่วมลงพื้นที่

นายชัชชาติ กล่าวว่า การเตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือของ กทม. ในวันนี้ เนื่องจากมีฝนตกหนักทางภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน และมวลน้ำไหลลงมาทางแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนปี 2554 เพราะ

1. น้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม โดยเขื่อนภูมิพลประมาณ 50% เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 70% ยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ซึ่งปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก น้ำล้นทั้งสองเขื่อน ต้องปล่อยออก เพราะฉะนั้น เขื่อนที่เป็นด่านแรกยังสามารถชะลอน้ำได้อยู่

2. น้ำที่ไหลลงมาไม่ได้มาก เช่น ที่สถานีบางไทร ด่านที่ต้องเฝ้าระวังของ กทม. ขณะนี้อัตราการระบายน้ำประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที โดยสามารถรับได้ถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที แม้จะมีมวลน้ำเหนือมารวม เชื่อว่าไม่น่าจะถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที

3. แนวกั้นน้ำที่ทำไว้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จุดที่เคยเป็นฟันหลอ เช่น บริเวณวังหลัง ฝั่งธน พระนคร สะพานปลา ถนนเจริญกรุง บางพลัด กทม. ได้อุดฟันหลอไปเยอะแล้ว ซึ่งจุดที่เป็นฟันหลอใหญ่ประมาณ 32 จุด ทำไปแล้ว 17 จุด รวมทั้งหมด 120 จุด ซึ่งทำแล้วเสร็จรวม 64 จุด ส่วนที่เหลือได้เตรียมกระสอบทรายไว้อุดแล้วประมาณ 1 ล้าน 500,000 ใบ เป็นของสำนักการระบายน้ำ 250,000 ใบ และของสำนักงานเขตกว่า 1 ล้านใบ

นายชัชชาติ ยังกล่าวอีกว่า ภาพรวมสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ประมาทไม่ได้ เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อน คือ บ้านเรือนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ 16 ชุมชน ที่เป็นบ้านรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งป้องกันได้ยาก กรณีที่ต้องระวังในอนาคต จากน้ำที่มีผลกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งมี 4 ส่วน คือ น้ำเหนือ น้ำหนุนจากทะเล น้ำฝน และน้ำท่า ที่กังวลคือน้ำฝน เพราะสภาพอากาศโลกเปลี่ยน

หากฝนตกใน กทม. ปริมาณมาก อาจต้องใช้เวลาในการระบาย ซึ่ง กทม. ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งการลอกคูคลองซึ่งทำทั้งปีไม่ได้เพิ่งทำ โดยคลองหลักลอกไปแล้ว 200 กม. การเปิดทางระบายน้ำคูคลองทำไปแล้ว 1,300 กม. ลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,300 กม. ทำให้ช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีฝนตกหนัก ถนนหลักก็ใช้เวลาแห้งหมดไม่เกิน 3 ชม.

“การรับมือสถานการณ์น้ำได้ดี เป็นผลจากการที่ได้ดูแลคูคลองอย่างต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงระบบบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าประมาท แต่เชื่อว่า กทม. เตรียมตัวรับมือได้อย่างเต็มที่ เพี่อดูแลพี่น้องประชาชน” นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครได้วางมาตรการรับมือน้ำให้ชาวกรุงเทพฯ ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ พร้อมตรวจสอบความเรียบร้อยและให้การช่วยเหลือประชาชน

2. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม

3. การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย ลดระดับน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ และเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่

ปัจจุบัน ภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้

สถานการณ์น้ำเหนือ 4 เขื่อนหลัก ภาพรวมดีกว่าปีก่อน คาดน้ำจากสุโขทัยเข้า กทม. ใน 6 วัน เตรียมเฝ้าระวังด่านหน้าสถานีบางไทร
สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 ส.ค.66 กับ 25 ส.ค.67) พบว่า ปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาประมาณ 6 วัน คือ (2 ก.ย.67)

โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวัง ก่อนถึงกรุงเทพมหานคร คือ ที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 ส.ค.67 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที อัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

คันกั้นน้ำริมเจ้าพระยายาว 80 กม. เสริมสูงกว่าน้ำท่วมปี 54 พร้อมระดมสรรพกำลังเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือหลาก
กทม.ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ รวมถึงตรวจสอบความแข็งแรง จุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 54 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่าง ๆ

รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของ สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี โดยรวมทั้งหมดประมาณ 200 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมปฏิบัติการ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน จำนวน 731 ครัวเรือน ใน 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนั้น ได้สั่งการให้เขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชน และให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หากระดับน้ำขึ้นสูง  นอกจากนี้ ยังสั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที

ฝนตกรวมใกล้เคียงปีที่แล้ว ภาพรวมปีนี้ กทม. รับมือสถานการณ์ฝนได้ดี ท่วมน้อย ลดเร็ว พร้อมเตรียมการเข้มข้นรับมือฝนต่อเนื่อง
ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2567 พบว่า ในเดือน ส.ค. ปริมาณฝนอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสะสมในปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อม ทั้งในด้านของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความพร้อมของประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำริมแม่น้ำในการรับมือกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

การรับมือสถานการณ์ฝนของ กทม. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด คือ การลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน อาทิ พร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ (water bank) แก้มลิง การเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษา อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ แล้วเสร็จ 100% ทุกจุด รวมถึงการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักในปีนี้ลดลงเร็ว

เปิดทุกช่องทาง กทม. ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและฝนอย่างใกล้ชิด รวดเร็ว
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝน ได้ที่
Facebook และ X กรุงเทพมหานคร
ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร
เว็บไซต์ www.prbangkok.com และ http://dds.bangkok.go.th/

แจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่
Traffy Fondue
Facebook ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม.
สายด่วน โทร.1555
และศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.02-248 5115

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ