เทศบาลเมืองทุ่งสง ลงนามเซ็นสัญญากับ บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ในการบริหารจัดการศูนย์รวบรวม เปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าเกษตร ของศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มูลค่ากว่า 50 ล้าน คาดหวังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และนานาชาติ
ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายวิรัช รักษ์พันธ์ รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามเซ็นสัญญาการเช่าบริหารจัดการศูนย์รวบรวม เปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าเกษตร ของศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 (เฟส 2) เพื่อการขนส่งต่อเนื่องเชื่อมต่อจากระบบถนน ระบบรางรถไฟ และระบบเรือ ระหว่าง บริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประมูล และนายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองทุ่งสง โดยมีกำหนดระยะการเช่า 20 ปี มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเปิดให้บริการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ในระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย อาคารคลังสินค้า เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ขนาดกว้าง 36 เมตร ยาว 48.50 เมตร จำนวน 2 หลัง และพื้นที่ลานคอนกรีตบริเวณอาคาร รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 15,000 ตารางเมตร มีกำหนดเวลา 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 – 31 มกราคม 2581 ซึ่งบริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลเช่าดำเนินการในเฟสที่ 2 จากความร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า ทำให้วันนี้สามารถเปิดให้บริการในระยะที่ 2 ได้เป็นผลสำเร็จ ในอนาคตศูนย์กระจายสินค้า จะสามารถเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) บรรลุเป้าหมายเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และนานาชาติ ทำให้ในอนาคตจังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจต่อไปอย่างมาก
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับ ศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ปัจจุบันได้เปิดให้บริการในระยะที่ 1 ลักษณะ (Container yard : CY) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 โดยบริษัท ศรีตรังโลจิสติกส์ จำกัด ชนะการประมูลเช่าลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ พร้อมเครื่องชั่งน้ำหนักและห้องควบคุม เพื่อรับส่งสินค้าด้วยระบบรางของศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง ซึ่งเป็นลานคอนกรีตเสริมเหล็กมีพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร เทียบเคียงขนานกับรางรถไฟ ใช้เป็นลานเก็บวางตู้คอนเทนเนอร์ทั้งตู้เปล่าและตู้ที่บรรจุสินค้า มีกำหนดเวลาเช่า 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 – 31 พฤศจิกายน 2584 สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นการขนส่งสินค้าภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพาราในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จากในระยะแรกช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 – สิ้นปี 2559 มียอดปริมาณการขนส่งอยู่ที่ประมาณ 1,500 ตู้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เดือนธันวาคม 2560 ปริมาณการขนส่งอยู่ที่เดือนละ 600 – 700 ตู้ต่อเดือน ปริมาณการขนส่งรวมต่อปีอยู่ที่ประมาณ 6,000 ตู้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: