สมุทรสาคร – รมว.ทส. ลงพื้นที่จุดสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬอายุนับพันปี พื้นที่ ต.อำแพง จ.สมุทรสาคร เผยพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยรอบ นำส่งวิเคราะห์หาอายุ
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 25 พ.ย. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ ในพื้นที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หลังได้รับแจ้งการค้นพบจากบริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เจ้าของพื้นที่ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา
โดยการสำรวจขุดค้นซากวาฬตามหลักวิชาการในพื้นที่ ได้มีการดำเนินการโดย กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์และความร่วมมือจากเจ้าของพื้นที่ ผลการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม พบว่าชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬที่พบมีการเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้นจึงเร่งทำการสำรวจขุดค้น ตั้งแต่วันที่ 9 – 15 พ.ย. 2563 พบมีกระดูกวาฬอีกหลายชิ้นที่เรียงตัวต่อเนื่อง และขุดค้นได้มากกว่าร้อยละ 50 ประกอบไปด้วยกระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครงข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่ และแขน (ครีบ) ด้านซ้าย
ข่าวน่าสนใจ:
ต่อมาคณะสำรวจได้เข้าพื้นที่เพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2563 ผลการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติมรวมมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์ หลังจากนี้จะนำตัวอย่างไปอนุรักษ์ในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ต่อไป นอกจากโครงกระดูกวาฬ คณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในบริเวณโดยรอบ อาทิ ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ และได้นำตัวอย่างเปลือกหอย ซากพืช และกระดูกวาฬ ส่งวิเคราะห์หาอายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) คาดว่าจะทราบผลประมาณอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
จากการพบโครงกระดูกวาฬบนแผ่นดินซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร ในครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต และได้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับวาฬ นอกจากนี้ผลที่ได้จากการสำรวจด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์ ยังช่วยในการแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลในปัจจุบันและอนาคต ที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: