สมุทรสาคร – รองผู้ว่าฯ ตรวจเยี่ยมการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงาน Bubble & Seal เผยตรวจครบ 4 หมื่นคน ตรวจซ้ำอีกครั้ง มี.ค. นี้
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 ก.พ. 2564 นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ และ น.ส.ศิริลักษณ์ มณีประเสริฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายณภัทร์ เอมอ่อน นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร และคณะ เข้าตรวจเยี่ยมการตรวจหาภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ในกลุ่มแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ภายใต้มาตรการ Bubble & Seal ในโรงงาน ณ บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้ดำเนินการตรวจพนักงานมาเป็นวันที่ 5 แล้ว มีแรงงานของบริษัทฯ ที่ต้องเข้ารับการตรวจรวมทั้งสิ้นเกือบ 10,000 คน เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 คน
นายธีรพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันนี้ จะดำเนินการเฉพาะในสถานประกอบการหรือโรงงานเป้าหมายเท่านั้น ซึ่งในระยะแรก จ.สมุทรสาคร ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา มีโรงงานเป้าหมาย 9 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble จำนวน 7 แห่ง และ มาตรการ Seal อีกจำนวน 2 แห่ง มีแรงงานเป้าหมายทั้งหมดประมาณ 40,000 คน โดยได้ดำเนินการตรวจครบทุกราย ส่วนตัวเลขผู้พบภูมิคุ้มกันเป็นบวกนั้น ขณะนี้ยังมียอดที่น้อยมาก เนื่องจากว่าต้องรอผลอีกระยะหนึ่ง
โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้ตั้งเป้าว่าจะพบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ราว 30-40 % อย่างไรก็ตามยังคงต้องคงมาตรการ Bubble & Seal ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 หลังจากนั้นโรงงานที่ดำเนินการตามมาตรการ Bubble & Seal มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ก็จะไม่มีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปอีก ยกเว้นในส่วนของโรงงานหรือสถานประกอบการรายใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ Bubble & Seal เช่นเดียวกัน
ด้าน ทนพ.วินัย นามธง เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานด้วยวิธี Rapid Test พบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันประมาณร้อยละ 20 แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันชนิดใด ต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อหาชนิดของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ คือ แรงงานผู้นั้นเคยรับเชื้อโควิด-19 แล้วร่างกายมีความแข็งแรง ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทำร้ายร่างกายได้ ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นต้องมีการติดตามผลกันต่อไป
สำหรับการตรวจหาภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานเป้าหมาย จะใช้วิธีการตรวจทั้งหมด 3 วิธี คือ ตรวจแบบ Rapid Test, ตรวจแบบอิไลซา (ELISA) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และตรวจแบบ Neutralizing Antibody โดยแล็บโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยหลังจากนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร จะดำเนินการตรวจหาภูมิคุ้มกันอีกเป็นครั้งที่สอง ประมาณต้นเดือน มี.ค. 2564 โดยจะตรวจซ้ำในกลุ่มแรงงานเป้าหมายที่เคยตรวจครั้งแรกแล้วยังไม่พบภูมิคุ้มกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: