X

คำต่อคำ “ผู้ว่าฯปู” เปิดใจก่อนอำลา เป็นห่วง 3 เรื่องหลัก ให้กำลังใจทุกภาคส่วน

สมุทรสาคร – ผู้ว่าฯ “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” กล่าวอำลาในที่ประชุม คกก.โรคติดต่อจังหวัดฯ ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งพ่อเมืองอ่างทอง เผยเป็นห่วง 3 เรื่อง “อควาเรียม-แรงงานข้ามชาติ-โควิด” พร้อมขอบคุณที่ทำงานร่วมกัน เป็นกำลังใจให้ทุกคน

วันนี้ (17 ก.ย. 2564) นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อกล่าวอำลาและขอบคุณทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวสมุทรสาคร ในการทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ว่า ตนเป็นห่วงอยู่ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำสมุทรสาคร หรือ “สาครอควาเรียม” ที่ ต.โคกขาม เรื่องนี้ยืดเยื้อกันมาหลายปี ต้องเรียนให้ทุกคนทราบว่ามีความสำคัญอย่างมาก และต้องรู้จักพลิกแพลง ก็ต้องฝากกับทุกภาคส่วนไว้ด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เมื่อเงินเข้ามาแล้วก็เซ็นสัญญาได้เลย ใช้เงินประมาณเกือบ 20 ล้านบาท

ที่ตนเป็นห่วงประการแรกเพราะว่ามันใช้เวลานาน บางคนคิดว่าปิดไปแล้ว แต่ที่จริงยังไม่ปิด ที่ผ่านมามันชะงักงันเนื่องจากจังหวัดฯ บอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายเดิมไป วันนี้ดำเนินการใหม่แล้ว โดยที่ผู้รับจ้างรายเดิมยังฟ้องร้องกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดฯ อยู่ ซึ่งส่วนนั้นให้เป็นเรื่องตามกฎหมายไป ถ้ารอให้คดีความเสร็จสิ้นก็ไม่ได้ทำเสียที ก็ต้องทำ อีกประการหนึ่งที่เป็นห่วงเพราะว่าตอนนี้มีอควาเรียมในที่ต่าง ๆ เยอะ จะไปแข่งขันกับที่อื่นซึ่งบางแห่งลงทุนไปหลายพันล้านบาทก็คงไม่ใช่ ต้องหาเอกลักษณ์ให้เจอ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะมาดูเรื่องปลาการ์ตูนหรือว่าเต่า ก็ต้องมาดูที่สาครอควาเรียม จะไปแข่งขันอย่างอื่นไม่ได้ ต้องวางพล็อตเรื่องให้น่าสนใจ ถึงแม้จะเล็ก แต่ก็เล็กอย่างมีคุณภาพ

เรื่องที่สอง เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ ความจริงตนได้ปรึกษากับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฯ คนเก่าไว้เรียบร้อยแล้วก่อนจะมีเรื่องโควิด-19 ตอนนี้ต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงานต่างชาติมีจำนวนเยอะ ที่จดทะเบียนถูกต้องเกือบ 3 แสนคนแล้ว และที่ไม่ถูกต้องอีกเท่าไร คืออยากจะให้การดำเนินงานเข้าที่เข้าทาง จะจัดโซนนิ่ง จะมีที่พักถูกสุขอนามัย หรือจะดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน ตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถทำได้หมด แต่ว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ต้องคุยกับทางฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ และชุมชนให้ชัดเจนว่าแนวทางจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คงไม่สามารถทำได้ในระดับจังหวัดอย่างเดียว เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งถ้าเรื่องโควิด-19 ซาลงไปเมื่อไร ก็ฝากทางจังหวัดฯ และภาคเอกชนช่วยกันประสานเรื่องนี้ต่อ

เรื่องสุดท้าย คือเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะโรคนี้ยังอยู่กับเราอีกนาน คงยากที่จะหมดไปจาก จ.สมุทรสาคร ยิ่งมีปัญหาในหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับโควิดด้วย ดังนั้นเราต้องดำเนินการในลักษณะของการอยู่กับโควิดให้ได้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จะเปิดเรียนให้กับโรงเรียนที่เด็กนักเรียนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ 100 เปอร์เซ็นต์เรียบร้อยก่อน ตนเห็นเป็นเรื่องดี แต่ตอนนี้วัคซีนยังไม่รู้ว่าจะฉีดให้กับเด็กวัยใดก่อน และวัคซีนจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็ยังถกเถียงในวงวิชาการ ซึ่งก็ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนการบูสเตอร์เข็ม 3 ก่อนหน้านี้กำหนดไว้ว่าดีเดย์ วันที่ 1 ต.ค. 64 ล่าสุดทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ รมว.สาธารณสุข ประสานเสียงกันว่าจะเริ่มฉีดในวันมหิดล 24 ก.ย. 2564 เป็นวันแรก ซึ่งทาง จ.สมุทรสาคร ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มเป็นจังหวัดแรก ๆ ของประเทศ ก็อยากได้วัคซีนชนิดอื่นช่วยด้วยเหมือนกัน ดังนั้นทั้ง 3 เรื่องที่ตนค่อนข้างเป็นห่วง ก็ฝากทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ด้วย

นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวเองนั้น ก็ยังยืนยันว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เราไม่ได้เป็นเพราะเพียงร่างกายที่มาพำนักพักอาศัยอยู่ที่นี่ แต่มีส่วนในการดำเนินการมากกว่านั้น มากกว่าคำว่าเป็นผู้ว่าฯ นั่นคือเป็นคนสมุทรสาครด้วย เพราะฉะนั้นใจเราก็ให้ด้วย เพราะถ้าใจให้ด้วยอะไรหลายอย่างที่คนสมุทรสาครคิด คนสมุทรสาครต้องการ ตนก็รู้สึกคิด และรู้สึกต้องการเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรื่องของตนก็จะมีการดำเนินงานที่มันเป็นข้อจำกัด เช่น เรื่องเงินหรือระเบียบ แต่ก็พยายามไขว่คว้ามาให้ได้ พยายามทะลุผ่านให้ได้ อย่าเอาข้อจำกัดมาเป็นข้ออ้างว่าฉันไม่สามารถทำได้ เพราะเงินไม่มี ไม่สามารถทำได้ ระเบียบมันผิด จะโดนตรวจสอบ ไม่อย่างนั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างก็ติ๊ดชึ่ง ๆ ไปอย่างเดียว รอวันที่จะย้าย

สุดท้ายตนยังยืนยัน ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่ผู้วิเศษ ทำงานคนเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมกัน และในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ใคร ๆ เขาว่าเป็นประธาน เป็นหัวเรือ เป็นแม่ทัพ แต่คนที่อยู่เหนือขึ้นไปก็มีผู้บังคับบัญชา พูดง่าย ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็น “โซ่ข้อกลาง” ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่สิ่งที่ตนบอกเสมอ ก็คือว่าผู้บังคับบัญชามีแต่สั่งให้เราทำ แต่คนที่ทำจริง ๆ คือเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา นั่นคือพวกเราทุกคนที่อยู่ในที่นี้ (คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ) ไม่เคยสั่งผู้ว่าฯ ได้เลย เพราะสั่งไม่ได้ มีแต่ว่าต้องปฏิบัติตาม ได้มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือว่าปรึกษาหารือกัน เพราะฉะนั้นความสำคัญของคนสั่ง กับคนที่ต้องปฏิบัติตามที่เรามอบหมายจึงต่างกัน

วันนี้จึงต้องขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงาน ทำให้การดำเนินงานเดินไปได้ด้วยดี ตนไม่ใช้คำว่าประสบความสำเร็จ เพราะถ้าตัวเลขผู้ป่วยยังเป็นแบบนี้อยู่ จะบอกว่าสำเร็จมันเป็นไปไม่ได้ จะบอกว่าเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นมันก็ลำบาก เพราะที่อื่นจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่า เพราะฉะนั้นที่นี่อ้างว่ามีโรงงานเยอะ มีนายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอแค่ 3 คน เราพูดในที่นี้ได้ แต่เราพูดข้างนอกไม่ได้ เพราะหมายความว่าเราแพ้ เราเอาข้อจำกัดข้อที่เราไม่มี ไปบอกคนอื่นว่าเราสู้ไม่ได้ ซึ่งเราปรึกษาหารือกันได้ แต่เราจะไปบอกคนอื่นเห็นใจ และไม่สามารถจะเอาชนะได้นั้น ไม่ได้

ดังนั้นเป็นกำลังใจให้กับทุกคน เราต้องสู้บนความขาดแคลน บนความไม่มี ก็ต้องสู้ ฝากกำลังใจไว้กับพวกเราด้วย และก็ขอบคุณในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าสมุทรสาครต่อไป

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of กิตติกร นาคทอง

กิตติกร นาคทอง

กิตติกร นาคทอง จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวเว็บไซต์สาครออนไลน์ จังหวัดสมุทรสาคร เน้นนำเสนอความเคลื่อนไหวในท้องถิ่น และการพัฒนาเมืองในจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก