สมุทรสาคร – เปิดที่หยุดรถไฟ รพ.นครท่าฉลอม อย่างเป็นทางการ รองรับผู้ป่วยตามเส้นทางรถไฟบ้านแหลม-แม่กลอง เดินทางสะดวก-ประหยัด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ธ.ค. 2564 นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิด “ที่หยุดรถไฟโรงพยาบาลนครท่าฉลอม” ต.ท่าฉลอม อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร โดยมี ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม ดร.ละมูล ลือสุขประเสริฐ ประธานกรรมการมูลนิธิกำลังใจ นพ.เอกพร พรรณเชษฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และผู้นำชุมชนเข้าร่วมพิธี
ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานกรรมการ มูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม กล่าวว่า โรงพยาบาลนครท่าฉลอมได้เริ่มเปิดให้บริการเบื้องต้นแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 61 ต่อมาได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งของเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ขึ้นที่โรงพยาบาลฯ และได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 63 จึงนับเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแห่งแรก ที่สร้างขึ้นจากการริเริ่มและจิตศรัทธาของประชาชน โดยมิได้ใช้งบประมาณของรัฐแต่อย่างใด
โรงพยาบาลนครท่าฉลอม มีรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง วิ่งผ่านด้านหลังโรงพยาบาล แต่เดิมไม่ได้เป็นที่หยุดรถ เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลตามเส้นทางรถไฟสายนี้ สามารถเดินทางมารับการรักษาได้อย่างสะดวกและประหยัด มูลนิธิโรงพยาบาลนครท่าฉลอม จึงได้ขออนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เพื่อให้โรงพยาบาลนครท่าฉลอมเป็นที่หยุดรถไฟ และทาง รฟท. ได้อนุญาต แต่ทาง รฟท. ไม่มีงบประมาณสำหรับการสร้างที่หยุดรถไฟแห่งนี้ มูลนิธิฯ จึงได้หาเงินบริจาคจำนวน 1,800,000 บาท จากผู้มีจิตศรัทธาจำนวนมากเพื่อสร้างเอง ขณะนี้ได้สร้างแล้วเสร็จ และ รฟท. ได้ตรวจรับและประกาศเปิดใช้ที่หยุดรถไฟแล้ว จึงได้จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และจะได้มาใช้บริการที่หยุดรถไฟแห่งนี้ได้
สำหรับ “ที่หยุดรถไฟโรงพยาบาลนครท่าฉลอม” (ตัวย่อ “นฉ.”) ในเส้นทางสายบ้านแหลม-แม่กลอง ที่ กม.0+567.00 ทาง รฟท. ได้ประกาศเปิดใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยตั้งอยู่ระหว่างสถานีบ้านแหลม (แห.) กับที่หยุดรถไฟท่าฉลอม (ฉอ.) บริเวณด้านหลังของโรงพยาบาลนครท่าฉลอม ซึ่งรูปแบบของที่หยุดรถไฟ มีชานชาลากว้าง 2 เมตร ยาว 40 เมตร และอาคารพักผู้โดยสาร ขนาดกว้าง 5.5 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ได้ออกแบบ โดยดัดแปลงจากอาคารพักผู้โดยสารรูปแบบเดิมของการรถไฟฯ มาตกแต่งในรูปแบบย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ 5
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: